บาลีวันละคำ

พระราชบัญญัติ (บาลีวันละคำ 543)

พระราชบัญญัติ

(บาลีไทย)

อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-บัน-หฺยัด

พระราช” เป็นคำบาลีที่ใช้อย่างไทย ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน” เช่น พระราชวัง, พระราชศรัทธา

บัญญัติ” บาลีเป็น “ปญฺญตฺติ” (ปัน-ยัด-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การให้รู้โดยทั่วถึง” “การปูลาด” (เทียบการปูเสื่อ ปูพรม หรือเอาที่นั่งที่นอนมาปูไว้ คือการกำหนดขึ้นว่า ใครจะทำอะไรก็ควรทำหรือต้องทำตามข้อกำหนดอย่างนี้ๆ เหมือนใครนั่งจะนอนก็ควรมานั่งนอนตรงที่ซึ่งปูลาดไว้ให้ ไม่ใช่ไปนั่งนอนเกะกะตามใจชอบ)

ปญฺญตฺติบัญญัติ” หมายถึง การประกาศ, การป่าวร้อง, การแจ้งให้รู้, การตั้งขึ้น, ข้อที่กำหนดขึ้น, การกำหนดเรียก, การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ, การแสดงให้เห็น, การกำหนด, การตั้งชื่อ, ความคิดหรือแนวความคิด, ความรู้สึก, ความเข้าใจ (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า making known, manifestation, description, designation, name, idea, notion, concept)

พจน.42 บอกไว้ว่า –

1. บัญญัติ : ข้อความที่ตราหรือกําหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ 10 ประการ. ตราหรือกําหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย

2. พระราชบัญญัติ : บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา

พระราชบัญญัติ ใช้คำย่อว่า พ.ร.บ. มักออกเสียงอ่านกันทั่วไปว่า พอ-รอ-บอ

ตามหลักแล้วต้องอ่านเป็นคำเต็มว่า พฺระ-ราด-ชะ-บัน-หฺยัด เพราะเราย่อคำเขียน ไม่ใช่ย่อคำอ่าน

พระราชบัญญัติ เรียก รู้ และเข้าใจกันด้วยคำธรรมดาว่า “กฎหมาย

: ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าดี

10-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย