บาลีวันละคำ

สันติวิธี (บาลีวันละคำ 620)

สันติวิธี

อ่านว่า สัน-ติ-วิ-ที

ประกอบด้วย สันติ + วิธี

สันติ” บาลีเขียน “สนฺติ” รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) แปลง มฺ เป็น นฺ + ติ ปัจจัย = สนฺติ แปลว่า ความสงบ, ความราบรื่น (tranquillity, peace)

ในทางธรรม สนฺติ แปลว่า “ภาวะที่ดับกิเลส” หมายถึง นิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

สันติ” คือ ความสงบ, ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย, ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย, ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัว, เป็นไวพจน์หนึ่งของ นิพพาน

วิธี” บาลีเป็น “วิธิ” (ไทยสระ อี บาลีสระ อิ) แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้อย่างวิเศษ” หมายถึง แบบ, ทาง, กฎ, ทิศทาง, การจัดแจง, วิธี, คำที่เป็นสุภาษิต (form, way; rule, direction, disposition, method, motto)

สันติ + วิธี = สันติวิธี แปลตามศัพท์ว่า “วิธีอันสงบ

ยังไม่พบคำที่ประสมกันเช่นนี้ในคัมภีร์ เป็นบาลีแบบไทย แต่การประกอบศัพท์ถูกต้องตามหลักบาลี

พจน.42 บอกไว้ว่า –

สันติวิธี : วิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ เช่น เจรจาสงบศึกโดยสันติวิธี”

สันติวิธี” เป็นวิธีดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เจริญแล้ว หมายถึงการดำรงตนอยู่อย่างสงบสันติเป็นปกติวิสัย จึงไม่เกิดเหตุวิกฤต การที่สังคมมีเหตุวิกฤต เป็นการฟ้องว่าคนไม่ได้ใช้สันติวิธีมาแต่แรก

ฉลาดมาก : ใช้สันติวิธี ก่อนจะมีวิกฤต

ฉลาดน้อยไปนิด : ปล่อยให้เกิดวิกฤต จึงค่อยคิดถึงสันติวิธี

—————-

(ตามคำขอของ Pribpree Best Diamond)

26-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย