บาลีวันละคำ

สาหัส (บาลีวันละคำ 621)

สาหัส

อ่านว่า สา-หัด

บาลีเป็น “สาหส” อ่านว่า สา-หะ-สะ

สาหส” รากศัพท์มาจาก –

1. สห (ธาตุ = อดกลั้น) + ปัจจัย = สห (สะ-หะ) แปลว่า “ภาวะเป็นเหตุให้อดกลั้นได้” หมายถึง ความอดกลั้น, กำลัง, ความสามารถ ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ยอม, ทน (submitting to, enduring)

2. สห (ตามข้อ 1) ยืดเสียง เป็น สา > สาห + ปัจจัย = สาหส (สา-หะ-สะ) แปลว่า “การกระทำอันเกิดจากกำลัง” หมายถึง การใช้กำลัง, การกระทำตามอำเภอใจ, การปฏิบัติที่รุนแรง (violence, arbitrary action, acts of violence) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง รุนแรง, รีบเร่ง, ผลุนผลัน (violent, hasty)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “สาหส” ว่า ทัณฑ์, พลาตการ, บีฑา punishment; violence; oppression.

สาหส” ภาษาไทยใช้ว่า “สาหัส” พจน.42 บอกไว้ว่า –

สาหัส : ร้ายแรง เช่น บาดเจ็บสาหัส, รุนแรงเกินควร เช่น ถูกลงโทษอย่างสาหัส”

ในภาษาไทยยังมีคำว่า “สาหัสสากรรจ์” พจน.42 บอกความหมายว่า “แสนสาหัส, ร้ายแรงมาก, คอขาดบาดตาย, เช่น ได้รับทุกข์ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์, โดยปริยายหมายความว่า ลำบากยิ่ง เช่น ทางนี้ทุรกันดารสาหัสสากรรจ์ บุกป่าฝ่าดงอย่างสาหัสสากรรจ์”

สากรรจ์” เลือนมาจาก “ฉกรรจ์

ฉกรรจ์” มาจากภาษาอะไร ผู้สนใจควรสืบค้นต่อไป

สาหัส” เป็นคำน่าคิด รากเดิม “สห” หมายถึง ความอดกลั้น (enduring) แต่พอกลายรูปเป็น “สาหส” กลายเป็นว่าอดกลั้นไม่ได้ จึงต้องใช้ ความรุนแรง (acts of violence)

: ไม่รู้จักอดกลั้น ก็กัดกันเหมือนสัตว์

: อดทนแสนสาหัส เป็นสมบัติของคน

27-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย