บาลีวันละคำ

ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (บาลีวันละคำ 1,094)

ชุมพรเขตอุดมศักดิ์

มีปัญหาถามว่า พระนามกรมของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพร ..-.. อุดมศักดิ์

คำที่เว้นไว้ซึ่งออกเสียงว่า “เขด” สะกดอย่างไร ?

เขต– –เขตร– –เขตร์– –เขตต์– ?

ความรู้ทางภาษา :

คำที่สะกดทั้ง 4 แบบนั้น บาลีเขียนเป็น “เขตฺต” อ่านว่า เขด-ตะ

เขตฺต” (เขด-ตะ) รากศัพท์มาจาก :

(1) ขิปฺ (ธาตุ = หว่าน, กระจายออก) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ, ลบ ปฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน

: ขิปฺ > เขป + = เขปต > เขต + = เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หว่านพืช

(2) ขิตฺต (เมล็ดพืชที่หว่านไป) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ตฺต) เป็น เอ, ลบ ที่ (ขิตฺ)- (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบที่สุดบทหน้า”), ลบสระที่สุดธาตุ: ตา >

: ขิตฺต + ตา = ขิตฺตตา > ขิตฺตต + = ขิตฺตต > ขิตฺต > เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รักษาพืชที่หว่านไว้

เขตฺต” หมายถึง :

(1) นา, ที่ดินแปลงหนึ่ง, ที่ดินอันเหมาะสมแก่การเพาะปลูก, ที่ตั้ง (a field, a plot of land, arable land, a site)

(2) ที่อันเป็นเนื้อนาบุญ, กองแห่งกุศลกรรม (the soil of merit, the deposit of good deeds)

เขตฺต” ภาษาไทยปัจจุบันใช้เป็น “เขต” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า เขด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เขต : (คำนาม) แดนที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น เขตป่า เขตบ้าน, เวลาที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น หมดเขตวันที่ ๑๕. (ป. เขตฺต). (โบราณเขียนว่า เขตร).”

เขตฺต” สันสกฤตเป็น “เกฺษตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เกฺษตฺร : (คำนาม) ‘เกษตร์,’ ทุ่ง, นา; ตัว, ร่างกาย; ชายา; บุณยสถานหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ดุจพาราณสี, ฯลฯ); เรขาคณิต; จิตร์หรือรูปเส้นขอบ, รูปสังเขป, แผนเส้นขอบ; a field; the body; a wife; a place of pilgrimage or sacred spot (as Benares, &c.); geometry; a diagram, a plan drawn in outline.”

เกฺษตฺร ภาษาไทยใช้เป็น “เกษตร” (กะ-เสด)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เกษตร : (คำนาม) ที่ดิน, ทุ่ง, นา, ไร่; (คำโบราณ) แดน เช่น พุทธเกษตร. (ส. เกฺษตฺร; ป. เขตฺต).”

เขตฺต หรือ เกฺษตฺร ที่น่าสนใจในพระพุทธศาสนา คือ “พุทฺธกฺเขตฺต” (พุด-ทัก-เขด-ตะ) หรือ “พุทธเกษตร” (พุด-ทะ-กะ-เสด) แปลว่า “เขตแห่งพระพุทธองค์” มี 3 อย่าง คือ :

(1) ชาติเขต = แดนที่แผ่นดินไหวเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เช่นเมื่อประสูติ เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน

(2) อาณาเขต = แดนที่อานุภาพแห่งธรรมของพระพุทธองค์ เช่นพระปริตรต่างๆ แผ่ความคุ้มครองไปถึง

(3) วิสัยเขต = แดนอันไม่มีที่สิ้นสุดที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปทำกิจใดๆ ก็ได้ถ้าทรงประสงค์ เช่นเสด็จไปได้ทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล

ควรทราบ :

๑ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพร ..-.. อุดมศักดิ์ ทรงมีฐานันดรเมื่อประสูติเป็น “พระองค์เจ้า”

๒ พระนามเดิมที่ได้รับพระราชทานว่า “อาภากร” หรือพระนามเต็มว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า “อาภากรเกียรติวงศ์

๓ ในรัชกาลที่ 5 ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

พระนามเมื่อเป็น “กรมหมื่น” คำที่ออกเสียงว่า “เขด” สะกดเป็น “เขตร” (-ตร ไม่มีการันต์ที่ ร)

๔ ในรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับเลื่อนเป็น “กรมหลวง” มีพระนามว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระนามเมื่อเป็น “กรมหลวง” คำที่ออกเสียงว่า “เขด” สะกดเป็น “เขต” (-ต ตัวเดียวไม่มี ร)

๕ พระนามที่เรียกขานอย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระนามที่เรียกขานอย่างลำลองคือ “กรมหลวงชุมพร

พระนามที่เรียกขานอย่างลำลองในหมู่ทหารเรือและประชาชนทั่วไปคือ “เสด็จเตี่ย

พระสมัญญานามที่กองทัพเรือถวาย คือ “องค์บิดาของทหารเรือไทย

(โปรดเรียกพระสมัญญานามตามนี้อย่างเคร่งครัด อย่าเพี้ยนเป็นอย่างอื่น เช่น องค์พระบิดาของทหารเรือ องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ ฯลฯ)

๖ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2466

กองทัพเรือกำหนดให้วันที่ 19 พฤษภาคม เป็น “วันอาภากร

———-

19 พฤษภาคม 2466

ดวงตะวัน “อาภากร” ดับที่หาดทรายรี

………

แต่สำหรับลูกราชนาวี

ตะวันดวงนี้ยังสว่างไสวในหัวใจทุกดวง-นิรันดร

———-

(ถือโอกาส “วันอาภากร” ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้ Supachoke Thaiwongworakool ซึ่งติดค้างมาตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2557)

19-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย