บาลีวันละคำ

ศาสนพิธีกร (บาลีวันละคำ 1,117)

ศาสนพิธีกร

คำที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานมานี้

ถ้าใช้ไม่ดี จะพากันหลงทาง

ความรู้เรื่องศัพท์ :

ศาสนพิธีกร” มีคำว่า ศาสน + พิธี + กร

(๑) “ศาสน

บาลีเป็น “สาสน” รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา

(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

(๒) “พิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (-ธิ สระ อิ) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา = วิธา > วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ” หมายถึง :

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธี (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี” และ “พิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิธี : (คำนาม) งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา; แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่น ทำให้ถูกพิธี; การกําหนด เช่น ก็อยู่จนสิ้นชนมายุพิธีในเทพพู้น. (ม. คําหลวง ทศพร). (ป., ส. วิธิ).”

(๓) “กร

กร” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ

กร” ยังหมายถึง “มือ” ได้ด้วย แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน

คำที่ใช้กันมาแต่เดิม :

ศาสน + พิธี = ศาสนพิธี

พิธี + กร = พิธีกร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ศาสนพิธี : (คำนาม) พิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีทอดกฐิน พิธีอุปสมบท เป็นศาสนพิธีของพระพุทธศาสนา.

(2) พิธีกร : (คำนาม) ผู้ดําเนินการในพิธี เช่น พิธีกรในงานมงคลสมรส, ผู้ดำเนินรายการ เช่น พิธีกรในการสัมมนา.

อภิปราย :

๑ “ศาสนพิธีกร” น่าจะเกิดจากการเอาคำว่า “ศาสนพิธี” และ “พิธีกร” มายุบรวมกัน แปลว่า “พิธีกรในศาสนพิธี” หมายถึง ผู้ดําเนินการในพิธีกรรมทางศาสนา

๒ เท่าที่ปรากฏข้อเท็จจริง คำว่า “ศาสนพิธีกร” ใช้เรียกพิธีกรในงานบุญทางพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เช่น พิธีทำบุญเลี้ยงพระ พิธีเกี่ยวกับการศพ คือเป็นพิธีที่มีพระสงฆ์มากระทำกิจในพิธี

๓ พิธีกรในงานบุญดังกล่าวมีคำเรียกมาแต่เดิมว่า “มรรคนายก” (มัก-คะ-นา-ยก, ไม่ใช่ มรรคทายก) แปลว่า “ผู้นำทาง

๔ แต่ก่อนนี้งานบุญมักทำกันในวัด จึงรู้สึกกันว่ามรรคนายกทำหน้าที่เฉพาะในวัด ความจริงแล้วพิธีกรในงานบุญทั่วไปแม้ไม่ได้ทำในวัด ก็เรียกว่า “มรรคนายก” ได้เช่นกัน

๕ “พิธีกร” แปลว่า “ผู้ทำพิธี” ในงานบุญนั้นมรรคนายกเป็นแต่เพียงผู้นำให้คนที่ร่วมอยู่ในงานปฏิบัติกิจตามขั้นตอนต่างๆ เท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ทำพิธี “ผู้ทำพิธี” จริงๆ คือพระสงฆ์ การใช้คำว่า “มรรคนายก” จึงนับว่าถูกต้องตามความเป็นจริง

๖ พิธีที่ไม่มีพระสงฆ์ ใช้คำว่า “พิธีกร” นับว่าถูกต้อง เพราะพิธีเช่นนั้นพิธีกรเป็น “ผู้ทำพิธี” (master of ceremonies) คือดำเนินการในพิธีจริงๆ

๗ สรุปว่า “ศาสนพิธีกร” ก็คือ “มรรคนายก” นั่นเอง ถ้า “ทราบ” ซึ้งกับความหมายของมรรคนายก ก็คงไม่จำเป็นต้องมีศาสนพิธีกร คำว่า “ศาสนพิธีกร” จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงว่าคำเก่าๆ ที่มีความหมายหนักแน่นกำลังหายไป คำใหม่ๆ ที่อาจจะฟังดูดี แต่ความหมายแกว่งๆ กำลังจะเกิดขึ้นมาแทน

แค่คิด : ยังไม่มีข้อพิสูจน์

เพียงคำพูด : ยังไม่เรียกว่า “ผู้นำ”

ลงมือทำ : คือการนำที่แท้จริง

15-6-58

ต้นฉบับ