บาลีวันละคำ

เจตนารมณ์ [1] (บาลีวันละคำ 1,140)

เจตนารมณ์ [1]

อ่านว่า เจด-ตะ-นา-รม

ประกอบด้วย เจตนา + อารมณ์

(๑) “เจตนา

บาลีอ่านว่า เจ-ตะ-นา รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จิตฺ > เจต + ยุ > อน = เจตน + อา = เจตนา แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เจตนา : (คำกริยา) ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย. (คำนาม) ความตั้งใจ, ความจงใจ, ความมุ่งหมาย.”

(๒) “อารมณ์

บาลีเป็น “อารมฺมณ” (อา-รำ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (ทั่ว, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน มฺ, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง (ที่ อน) เป็น

: อา + รมฺ = อารม + = อารมฺม + ยุ > อน = อารมฺมน > อารมฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่มายินดี (แห่งจิตและเจตสิก)”

คำว่า “มายินดี” เป็นภาษาธรรม หมายถึงสิ่งที่จิตเข้าไปจับหรือรับรู้ คือเมื่อจิตจับอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นที่ “มายินดี” ของจิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่น่ายินดี (ชอบ) ไม่น่ายินดี (ชัง) หรือเป็นกลางๆ (เฉย) ก็ตาม

อารมฺมณ” หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ คือที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่กระทบกาย และเรื่องที่จิตคิดนึก (a basis for the working of the mind & intellect)

อารมฺมณ” ในภาษาไทยใช้ว่า “อารมณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู

(2) เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย

(3) ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย

(4) อัธยาศัย, ปรกตินิสัย, เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน

(5) ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์

(6) ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์

(7) (คำวิเศษณ์) มีอัธยาศัย, มีปรกตินิสัย, เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน

เจตนา + อารมณ์ = เจตนารมณ์ แปลตามศัพท์ว่า “อารมณ์คือเจตนา” หรือ “อารมณ์แห่งเจตนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจตนารมณ์ : (คำนาม) ความมุ่งหมาย.”

เจตนารมณ์” รูปบาลีเป็น “เจตนารมฺมณ” (เจ-ตะ-นา-รำ-มะ-นะ) แต่ไม่พบคำเช่นนี้ในคัมภีร์

เจตนารมณ์” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในภาษาไทยเทียบคำอังกฤษว่า intention

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล intention ว่า เจตนา, ตั้งใจ, มุ่ง, หมาย, มุ่งหมาย, ตั้งใจเอาไว้ให้

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล intention เป็นบาลีว่า

(1) parikappa ปริกปฺป (ปะ-ริ-กับ-ปะ) = ความตั้งใจ

(2) adhippāya อธิปฺปาย (อะ-ทิบ-ปา-ยะ) = ความมุ่งหมาย, ความประสงค์

(3) sañcetanā สญฺเจตนา (สัน-เจ-ตะ-นา) = ความจงใจ

ข้อสังเกต :

๑ ความจริง ลำพัง “เจตนา” คำเดียว ภาษาอังกฤษก็แปลว่า intention ได้อยู่แล้ว การที่ต้องคิดคำขึ้นมาใหม่ คงเป็นเพราะเราใช้ “เจตนา” ในความหมายทั่วไปจนชินแล้ว เมื่อจะให้มีความหมายเฉพาะ จึงต้องบัญญัติคำขึ้นใหม่เป็น “เจตนารมณ์” เพื่อให้ต่างจาก “เจตนา” เดี่ยวๆ

๒ คำนี้มาจาก เจตนา + อารมณ์ จึงต้องเป็น “เจตนารมณ์” (ณ เณร การันต์) ไม่ใช่ “เจตนารมย์” (ย์ การันต์) ดังที่มักเขียนผิด

: เจตนาร้าย เป็นตัวทำลายเจตนารมณ์

9-7-58

ต้นฉบับ