บาลีวันละคำ

ปัจจัตตังเว (บาลีวันละคำ 1,265)

ปัจจัตตังเว

อ่านว่า ปัด-จัด-ตัง-เว

ประกอบด้วย ปัจจัตตัง + เว

(๑) “ปัจจัตตัง

บาลีเป็น “ปจฺจตฺตํ” อ่านว่า ปัด-จัด-ตัง

ประกอบด้วย ปจฺจ (เฉพาะ) + อตฺตํ (ตน)

ขั้นที่ ๑

ปจฺจ” รูปเดิมคือ ปฏิ

สูตรทางไวยากรณ์คือ :

(1) แปลง เป็น = ปฏิ > ปติ

(2) แปลง อิ เป็น = ปติ > ปตฺย

(3) แปลง ตฺย เป็น จฺจ = ปตฺย > ปจฺจ

หรือสูตรสั้นๆ ว่า “แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ

ขั้นที่ ๒

อตฺตํ” (อัด-ตัง) รูปเดิมเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :

(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ปัจจัย

: อตฺ + = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

1) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)

2) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)

3) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: อทฺ + = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

1) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

2) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > ) และ อา ที่ ธา (ธา > ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ

: อา + ธา = อาธา + = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง

ในที่นี้ อตฺต แจกด้วยวิภัตติที่สองเป็น อตฺตํ เนื่องจากอยู่ในฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์

ขั้นที่ ๓

ปจฺจ + อตฺต = ปจฺจตฺต > ปจฺจตฺตํ > ปัจจัตตัง

(1) ใช้เป็นคุณศัพท์ (adj.) แปลว่า แยกกัน, แต่ละคน (separate, individual)

(2) ใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ (adv.) แปลว่า ต่างหากจากกัน, แต่ละคน, เดี่ยวๆ, โดยตนเอง, ในใจเขาเอง (separately, individually, singly, by himself, in his own heart)

ปจฺจตฺตํ > ปัจจัตตัง นักเรียนบาลีแปลกันโดยทั่วไปว่า “เฉพาะตัว” ความหมายเดียวกับที่เราพูดกัน เช่น “ความสามารถเฉพาะตัว

(๒) “เว

เป็นคำที่ตัดมาจากคำเต็มว่า “เวทิตัพพะ” เขียนแบบบาลีเป็น “เวทิตพฺพ

รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + อิ อาคม + ตพฺพ ปัจจัย (แปลว่า “พึง, ควร”), แผลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวท)

: วิทฺ + อิ + ตพฺพ = วิทิตพฺพ > เวทิตพฺพ แปลว่า “อัน-พึงรู้” “อัน-ควรรู้” = อันจะพึงรู้ได้

ปัจจัตตังเว” เป็นคำที่มาจากข้อความอันเป็นพระธรรมคุณท่อนสุดท้าย คือ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ (ปัด-จัด-ตัง / เว-ทิ-ตับ-โพ / วิน-ยู-หิ)

แปลยกศัพท์ว่า –

(ธมฺโม = อันว่าพระธรรม)

วิญฺญูหิ = อันผู้รู้ทั้งหลาย

เวทิตพฺโพ = จะพึงรูได้

ปจฺจตฺตํ = เฉพาะตน

บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย (พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ) คือ อิติปิ โส ภควา ฯเปฯ โลกสฺสาติ เป็นบทที่ชาวพุทธสวดได้คุ้นปาก เฉพาะบทพระธรรมคุณท่อนสุดท้าย “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ” คำว่า “เวทิตพฺโพ” ตัดมาเฉพาะ “เว-” พยางค์เดียว รวมกับ “ปจฺจตฺตํ” เป็น “ปจฺจตฺตํ เว” กลายเป็นคำพูดติดปาก ทำนองเดียวกับ :

ปฏิสังขาโย” ตัดมาจาก ปฏิสังขา โยนิโส

ภวตุสัพ” ตัดมาจาก ภวตุ สัพพะมังคะลัง

สัพพโร” ตัดมาจาก สัพพะโรคะวินิมุตโต

และ –

ปัจจัตตังเว” ตัดมาจาก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ

พระธรรมคือพุทธศาสนา :

จะมีคนรู้ค่าสักแค่ไหน

จะรอรู้ว่ารักประจักษ์ใจ

ต่อเมื่อสูญสิ้นไปกระนั้นฤๅ

————

(หยิบฉวยมาโดยวิสาสะจากข้อความตอนหนึ่งในความคิดเห็นของคุณหมอ แผน สิทธิ์ธีราห์)

15-11-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย