บาลีวันละคำ

นัมมทานที (บาลีวันละคำ 1,275)

นัมมทานที

อ่านว่า นำ-มะ-ทา-นะ-ที

ประกอบด้วย นัมมทา + นที

(๑) “นัมมทา

บาลีเขียน “นมฺมทา” อ่านว่า นำ-มะ-ทา รากศัพท์มาจาก นมฺม (ความสุข) + ทา (ธาตุ = ให้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: นมฺม + ทา + กฺวิ = นมฺมทากฺวิ > นมฺมทา แปลตามศัพท์ว่า “ให้ความสุข

(๒) “นที” รากศัพท์มาจาก –

(1) นทฺ (ธาตุ = ส่งเสียงไม่ชัดเจน) + ปัจจัย, ลง อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นทฺ + = นท + อี = นที แปลตามศัพท์ว่า “ส่งเสียงทุกขณะ

(2) นท (ส่งเสียง) + อิ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย, ลง อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นท + อิ = นทิ + อี = นที แปลตามศัพท์ว่า “ส่งเสียงไปไหลไป

นที” หมายถึง แม่น้ำ (a river) แม่น้ำเมื่อไหลไปย่อมเกิดเสียงเสมอ คำแปลตามศัพท์จึงว่า “ส่งเสียงทุกขณะ” “ส่งเสียงไปไหลไป

นมฺมทา + นที = นมฺมทานที แปลตรงตัวว่า “แม่น้ำนัมมทา

อภิปราย :

๑. หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปวิเคราะห์ (กระบวนการหาที่มาของความหมาย) ว่า “นมฺมํ สุขํ ททาตีติ นมฺมทา แม่น้ำที่ให้ความสุข” คือไขความคำ “นมฺม” ว่า “สุข”

๒. ในจิตติสัมภูตชาดก วีสตินิบาต (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๐๖๒) มีคำเรียกชื่อแม่น้ำ “รัมมทา” ซึ่งบางฉบับบอกว่าคือแม่น้ำ “นัมมทา”

คำว่า “รัมม” (บาลีเขียน รมฺม) แปลว่า น่ารื่นรมย์ : รมฺมทา = แม่น้ำที่ให้ความรื่นรมย์ ความหมายสอดคล้องกับที่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ แสดงไว้ คือ นมฺม = สุข

๓. ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า คำว่า “นมฺมทา = นัมมทา” น่าจะเป็นภาษาพื้นถิ่น แต่คงจะมีความหมายตามที่นักภาษาไขความไว้นั้น

ส่วนเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแม่น้ำนัมมทา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

นัมมทา : ชื่อแม่น้ำสายสำคัญในภาคกลางของอินเดีย ไหลไปคล้ายจะเคียงคู่กับเทือกเขาวินธยะ ถือว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่างอุตราบถ (ดินแดนแถบเหนือ) กับทักขิณาบถ (ดินแดนแถบใต้) ของชมพูทวีป, บัดนี้เรียกว่า Narmada แต่บางทีเรียก Narbada หรือ Nerbudda ชาวฮินดูถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สุด รองจากแม่น้ำคงคา, แม่น้ำนัมมทายาวประมาณ 1,300 กม. ไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ออกทะเลที่ใต้เมืองท่าภารุกัจฉะ (บัดนี้เรียก Bharuch) สู่อ่าว Khambhat (Cambay ก็เรียก), อรรถกถาเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปสุนาปรันตรัฐ ตามคำอาราธนาของพระปุณณะผู้เป็นชาวแคว้นนั้นแล้ว ระหว่างทางเสด็จกลับ ถึงแม่น้ำนัมมทา ได้แสดงธรรมโปรดนัมมทานาคราช ซึ่งได้ทูลขอของที่ระลึกไว้บูชา จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานั้น อันถือกันมาว่าเป็นพระพุทธบาทแห่งแรก.”

ที่มากระแสหนึ่งของประเพณีลอยกระทงก็คือ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานั้น

: ไม่ว่ารอยพระพุทธบาทที่ฝั่งนัมมทานทีจะมีหรือไม่

: ขอพระพุทธคุณจงมีในดวงใจตลอดกาลนานเทอญ

25-11-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย