บาลีวันละคำ

สยุมพร (บาลีวันละคำ 1,289)

สยุมพร

อ่านว่า สะ-หฺยุม-พอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สยุมพร ๑ : (คำนาม) สยมพร, สยัมพร หรือ สวยมพร ก็ใช้.”

ตามไปดูที่ “สยมพร” (สะ-หฺยม-พอน) พจน.54 บอกไว้ว่า –

สยมพร : (คำนาม) พิธีเลือกคู่ของกษัตริย์สมัยโบราณ; การเลือกผัวของนางกษัตริย์สมัยโบราณ, สยัมพร สยุมพร หรือ สวยมพร ก็ใช้. (ป. สยํวร; ส. สฺวยํวร).”

ข้อสังเกต :

๑. ที่คำว่า “สยุมพร” พจน.54 ไม่ได้อธิบายความหมาย เพียงแต่บอกว่า สยุมพร คือ “สยมพร” พจน.54 ไปอธิบายความหมายไว้ที่คำว่า “สยมพร” ดังนี้แสดงว่าคำหลักคือ “สยมพร” ไม่ใช่ “สยุมพร

๒. แต่คนส่วนมากที่พูดคำนี้ มักออกเสียงว่า สะ-หฺยุม-พอน = สยุมพร ไม่ใช่ สยมพร

พจน.54 บอกว่า สยมพร บาลีเป็น “สยํวร” สันสกฤตเป็น “สฺวยํวร

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “สยํวรา” (สะ-ยัง-วะ-รา) และ “สยมฺพรา” (สะ-ยำ-พะ-รา) รากศัพท์มาจาก สยํ + วรฺ (ธาตุ = ต้องการ) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สยํ + วรฺ + = สยํวร + อา = สยํวรา แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้ต้องการสามีเอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สยํวร” ว่า self-choice (การเลือกโดยตนเอง)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺวยมฺวรา” บอกไว้ว่า –

สฺวยมฺวรา : (คำนาม) กันยาซึ่งเลือกหาคู่ครองของนาง; a maiden who chooses her own husband.”

อภิปราย :

๑. “สยํ” (สะ-ยัง) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต นักเรียนบาลีแปลกันติดปากว่า “สยํ เอง” หมายถึง –โดยตนเอง (self, by oneself)

คำว่า “สยมภู” ที่เราค่อนข้างจะคุ้นกันก็มีรากศัพท์มาจาก “สยํ” คำนี้ (สยํ + ภู [แปลงนิคหิตเป็น มฺ] = สยมฺภู) แปลว่า “พระผู้เป็นเอง” หมายถึงพระอิศวร ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาใช้คำนี้เรียกพระพุทธเจ้า ในความหมายว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยพระองค์เอง

๒. ในบาลี นอกจากได้รูปเป็น “สยํวรา” แล้ว ยังแปลงนิคหิต (คือ อัง ที่ –ยํ) เป็น มฺ และแปลง เป็น ได้รูปเป็น “สยมฺพรา” อีกรูปหนึ่ง

๓. สยํวรา และ สยมฺพรา เป็นรูปอิตถีลิงค์ สันสกฤตก็เป็น สฺวยมฺวรา เป็นอิตถีลิงค์เช่นกัน คำแปลของ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ระบุชัดว่าเป็นคำที่หมายถึงสตรีโดยเฉพาะ คือหมายถึงสตรีที่เลือกคู่ครองด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้บิดามารดาจัดแจงหาให้

๔. ตามวัฒนธรรมของของชาวชมพูทวีป (อาจจะรวมถึงชาวเอเชียทั้งหมดด้วย) พ่อแม่เป็นผู้จัดแจงหาคู่ครองให้ลูก ดังคำสอนในเรื่องทิศหกที่ว่า บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วย 5 สถาน หนึ่งใน 5 นั้นก็คือ หาคู่ครองที่สมควรให้ (ปฏิรูเปน  ทาเรน  สญฺโญเชนฺติ) สังคมไทยก็ถือคตินี้อย่างเคร่งครัด เพิ่งจะมาจืดจางลงเมื่อราวครึ่งศตวรรษมานี้เอง ดังที่ปรากฏว่าลูกสมัยนี้นิยมเลือกคู่ด้วยตัวเอง จนกระทั่งอ้างเหตุผลหนักแน่นว่า พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายในการเลือกคู่ครองของลูก ซึ่งเท่ากับเป็นการตรงกันข้ามกับคติเดิม

สยํวรา > สยมฺพรา > สฺวยมฺวรา > สยมพร > สยุมพร ต้นกำเนิดมาจากธิดาของกษัตริย์ที่ไม่พอใจจะให้พระราชบิดาหาสามีให้ตามราชประเพณี แต่ขอเลือกคู่ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีให้ชายหนุ่มทั้งเมืองมาชุมนุมกันแล้วให้นางเลือกคนที่ต้องใจตามปรารถนาโดยการโยนพวงดอกไม้ไปให้ชายที่เลือก วิธีเลือกคู่เช่นนี้เรียกว่า สยํวรา = สยุมพร

นางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ในเรื่องสังข์ทอง นั่นคือตัวอย่างของ “สยุมพร” ที่เรารู้จักกันดี

ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า สยุมพร หมายถึงพิธีแต่งงานทั่วไป ซึ่งไม่ตรงกับความหมายเดิม

: แต่งงานไม่ใช่เล่นขายของ

: อย่าลอง ถ้าไม่มั่นใจ

———–

(ตามข้อสงสัยของ Janya P. Potter‎)

9-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย