บาลีวันละคำ

สมโภช (บาลีวันละคำ 687)

สมโภช

อ่านว่า สม-โพด

บาลีเป็น “สมฺโภช” อ่านว่า สำ-โพ-ชะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมโภช : (คำนาม) การกินร่วม, การเลี้ยงอาหาร; งานเลี้ยง, งานฉลองในพิธีมงคลเพื่อความยินดีร่าเริง เช่น งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี งานสมโภชพระสุพรรณบัฏ (ใช้เฉพาะแต่ในงานพระราชพิธีเท่านั้น). (ป.; ส. สมฺโภชน)”

(ป.; ส. สมฺโภชน) – ข้อความในวงเล็บนี้หมายความว่า “สมโภช” เป็นบาลี ถ้าเป็นสันสกฤตจะเป็น “สมฺโภชน” (ทั้งนี้ตามมติของ พจน.)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9, ราชบัณฑิต) บอกไว้ว่า –

สมฺโภช = สมโภช, การกินด้วยกัน, การเป็นอยู่ด้วยกัน

สห ภุญฺชนํ อนุภวนํ สมฺโภโช การกินร่วมกัน

สํ แทนศัพท์บทหน้า ภุชฺ ธาตุ ในความหมายว่ากิน ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น , พฤทธิ์ อุ เป็น โอ

: สํ > สมฺ + ภุชฺ = สมฺภุช + = สมฺโภช

ในคัมภีร์ไม่พบศัพท์ “สมฺโภช” แต่มีคำกริยา สํ + ภุชฺ ที่ตรงกันคือ “สมฺภุญฺชติ” (สำ-พุน-ชะ-ติ) แปลว่า (1) กินร่วมกัน (to eat together with) (2) คบหาสมาคมกัน (to associate with)

แต่ “สมฺภุญฺชติ” ก็ไม่ได้ใช้ในความหมายว่า งานเลี้ยง งานฉลอง เหมือน “สมโภช” ในภาษาไทย

คนมารวมกันมากๆ เมื่อมีเหตุอันควรยินดี แล้ว “กินร่วมกัน” อาการที่กินย่อมเต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน น่าจะเป็นด้วยเหตุผลนี้ ไทยเราจึงใช้คำว่า “สมโภช” ในความหมายว่า งานเลี้ยง งานฉลอง

ข้อสังเกต :

(1) “สมโภช” ถือได้ว่าเป็นบาลีไทย คือคำบาลีที่ผูกขึ้นใช้ตามความหมายเฉพาะของไทย

(2) คำนี้มักเขียนผิดเป็น “สมโภชน์” (มี น์ – ผิด) อันที่จริง โภชน์ ก็แปลว่า กิน เหมือนกัน และเป็นคำที่มีใช้ดกดื่น คนส่วนมากก็คุ้นกับ –โภชน์ ดังนั้น ที่ว่า “เขียนผิด” จึงควรเข้าใจว่า “ผิดตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนด” แต่ความหมายตามรากศัพท์ไม่ผิด

(3) ตาม พจน.54 บอกไว้ว่า คำว่า “สมโภช” “ใช้เฉพาะแต่ในงานพระราชพิธีเท่านั้น” ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากมีผู้นิยมใช้คำนี้ในงานที่มิใช่ “งานพระราชพิธี” ก็มี เช่น งานปิดทองฝังลูกนิมิต ก็มีคำว่า “มีมหรสพสมโภชตลอดงาน” ดังนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่ควรหาความชัดเจนกันต่อไป

: อย่ามองแต่เพียงว่า-จะกินอะไร

: แต่จงมองไกลไปถึงว่า-ได้มาอย่างไร

———————-

(ตามคำขอของพระคุณท่าน อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ)

4-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย