บาลีวันละคำ

กฤษดาภินิหาร (บาลีวันละคำ 775)

กฤษดาภินิหาร

อ่านว่า กฺริด-สะ-ดา-พิ-นิ-หาน

(คำว่า กฤษ- เสียงเดียวกับคำว่า อังกฤษ ต่อด้วย -สะ-ดา-)

บาลีเป็น “กตาภินีหาร

ประกอบด้วย กต + อภินีหาร = กตาภินีหาร

กต” (กะ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาทำแล้ว” หมายถึง สิ่งที่ถูกทำ ถูกสร้างมาเรียบร้อยแล้ว

อภินีหาร” (อภิ + นีหาร, อะ-พิ-นี-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การนำออกอย่างดียิ่ง” หมายถึง การนำตนเองออกไป (เพื่อมุ่งไปสู่ทางที่สูงขึ้นจากที่เป็นอยู่), วิธีที่จะกระทำ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, ความพยายาม, ความตั้งใจ, ปณิธาน (taking oneself out to, way of acting, proper behaviour, endeavour, resolve, aspiration)

กต + อภินีหาร = กตาภินีหาร เป็นคุณศัพท์ หมายถึงบุคคลที่ตั้งความปรารถนาไว้อย่างสูงแล้วทำความดีอันเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลที่ต้องการ (ทำมาเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่คิดจะทำหรือกำลังทำ)

ในคัมภีร์พบว่า คำว่า “กตาภินีหาร” มักปรากฏควบคู่กับคำว่า –

(1) ปุญฺญวา (ปุน-ยะ-วา) แปลว่า “ผู้มีบุญ” ดังคำเก่าของคนไทยพูดว่า “ผู้มีบุญมาเกิด”

(2) ทินฺนทาน (ทิน-นะ-ทา-นะ) แปลว่า “ผู้ให้ทานมาแล้ว” หมายถึงเป็นผู้ที่ได้เคยเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้ว

(3) ปุพฺพเหตุสมฺปนฺน (ปุบ-พะ-เห-ตุ-สำ-ปัน-นะ) แปลว่า “ผู้ทำเหตุให้ถึงพร้อมมาแต่กาลก่อน” หมายถึงเป็นผู้สั่งสมบุญบารมีมาแล้วทุกภพทุกชาติ

กฤษดาภินิหาร เป็นคำเดียวกับ กฤดาภินิหาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

กฤดาภินิหาร : (คำนาม) อภินิหาร (บุญอันยิ่ง) ที่ทําไว้. (คำวิเศษณ์) มีอภินิหารที่ทําไว้, (ส.; ป. กตาภินิหาร), ใช้แผลงเป็น กฤษฎา หรือ กฤษฎาภินิหาร ก็มี”

กตาภินีหาร > กฤดาภินิหาร > กฤษดาภินิหาร จึงหมายถึง บุญบารมีที่สร้างสมอบรมมาส่งผลให้เป็นบุคคลที่มีสติปัญญา มีคุณธรรม บรรลุความสำเร็จในชีวิตแล้วยังสามารถนำพาสังคมให้ดำเนินไปสู่สันติสุขได้อีกด้วย

: อยากได้ “ผล” ต้องทำ “เหตุ”

: อย่ามัวรอให้ผู้วิเศษมาช่วยดลบันดาล

—————

(ตามคำถามของ Nueng รักในหลวง)

#บาลีวันละคำ (775)

2-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *