บาลีวันละคำ

สมณวิสัย (บาลีวันละคำ 1,357)

สมณวิสัย

อ่านว่า สะ-มะ-นะ-วิ-ไส

ประกอบด้วย สมณ + วิสัย

(๑) “สมณ

อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

(๒) “วิสัย”

บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)

: วิ + สิ = วิสิ + = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –

(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)

(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)

จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –

(1) ขอบเขต

(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”

สมณ + วิสัย = สมณวิสัย แปลทับศัพท์ว่า “วิสัยแห่งสมณะ

สมณวิสัย” มีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) โลกของสมณะ คือการครองชีวิตตามแบบของนักบวช หรือกรอบขอบเขตที่นักบวชจะพึงประพฤติปฏิบัติหรือไม่ควรประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหรือหลักการที่ศาสนานั้นๆ กำหนดไว้ ถ้าปฏิบัติตามกรอบก็เรียกว่า อยู่ในสมณวิสัย ถ้าออกนอกกรอบ คือทำสิ่งที่สมณะไม่พึงทำ ก็เรียกว่า ผิดสมณวิสัย

(2) ความสำนึกว่าเป็นสมณะ คือความรู้สึกตัวได้ด้วยตนเองว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ถ้ามีความรู้สึกตัวดังนี้ก็เรียกว่า มีสมณวิสัย

คำจำพวกเดียวกันที่ควรนำมาเทียบ เช่น >

สมณบริโภค = การขบฉัน ตลอดจนใช้สอยสิ่งของอันเหมาะสมแก่เพศสมณะ

สมณโวหาร = คำพูดตามแบบแผนของสมณะ เช่น เรียกตัวเองว่า “อาตมา” หรือ “อาตมภาพ” ใช้คำรับว่า “เจริญพร”

สมณสัญญา = ความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าตนเป็นสมณะ

สมณสารูป = การนุ่งห่ม ตลอดจนกิริยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อยสมกับเป็นสมณะ

: จีวรไม่ทำให้คนเป็นพระ

: ถ้าสำนึกแห่งสมณะไม่มีอยู่ในหัวใจ

16-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย