บาลีวันละคำ

พิชิตมาร (บาลีวันละคำ 1,367)

พิชิตมาร

อ่านว่า พิ-ชิด-ตะ-มาน

ประกอบด้วย พิชิต + มาร

(๑) “พิชิต

บาลีเป็น “วิชิต” (วิ-ชิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ปัจจัย

: วิ + ชิ = วิชิ + = วิชิต แปลตามศัพท์ว่า (1) “อัน-ชนะแล้ว” (2) “พื้นที่อันชาวเมืองชนะเด็ดขาด” (คือเป็นอิสระอยู่ในพื้นที่นั้น) (3) “พื้นที่ที่ชนะแล้วโดยวิเศษ โดยที่ราชศัตรูครอบงำไม่ได้

ในภาษาบาลี “วิชิต” ใช้ในความหมายว่า –

(1) พิชิต, ปราบ, ได้รับชัย, มีชัย (conquered, subdued, gained, won)

(2) ดินแดนที่พิชิตได้, อาณาจักร, แว่นแคว้น, อาณาเขต (conquered land, realm, territory, kingdom)

จำสั้นๆ “วิชิต” แปลว่า มีชัยชนะ ก็ได้ แปลว่า ดินแดน ก็ได้

ในภาษาไทย ใช้ทั้ง “วิชิต” และแผลงเป็น “พิชิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) วิชิต : (คำนาม) เขตแดนที่ปราบปรามแล้ว. (คำวิเศษณ์) ปราบให้แพ้, ชนะแล้ว. (ป.; ส. วิชิต ว่า ถูกปราบ, ชนะ).

(2) พิชิต, พิชิต– : (คำนาม) แว่นแคว้นที่ปราบปรามแล้ว, แว่นแคว้น. (คำกริยา) ชนะ, ปราบให้แพ้. (ป., ส. วิชิต).

(๒) “มาร

บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ

: มรฺ + = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้

(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย

สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาร, มาร– : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”

วิชิต + มาร = วิชิตมาร (วิ-ชิ-ตะ-มา-ระ) > พิชิตมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีมารอันตนเอาชนะได้แล้วอย่างวิเศษ” เป็นคุณนามแสดงคุณสมบัติพิเศษของพระพุทธเจ้าที่ทรงกำจัดสรรพกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้เด็ดขาด

พจน.54 บอกไว้ว่า –

พิชิตมาร : (คำนาม) พระผู้ชนะมาร คือ พระพุทธเจ้า. (ป. วิชิตมาร).”

ข้อสังเกต :

คำว่า “พิชิตมาร” ในภาษาไทยนับว่าเป็นคำพิเศษ กล่าวคือ :

อ่านแบบบาลีว่า พิ-ชิด-ตะ-มาน ก็ได้ความหมายตามคำเดิม

อ่านแบบไทยว่า พิ-ชิด-มาน (พิชิต เป็นคำกริยา แปลจากหน้าไปหลัง) ก็ยังได้ความหมายตรงตามคำเดิม คือ ชนะมาร

: พิชิตมารอยู่ไม่ไกล

: แค่พิชิตใจตัวเอง

26-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย