บาลีวันละคำ

ประชามติ (บาลีวันละคำ 1,409)

ประชามติ

อ่านว่า ปฺระ-ชา-มะ-ติ

ประกอบด้วย ประชา + มติ

(๑) “ประชา

บาลีเป็น “ปชา” (ปะ-ชา)  รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน) + ชนฺ (ธาตุ ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ และ กฺวิ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + ชนฺ + กฺวิ = ปชนกฺวิ > ปชน > ปช + อา = ปชา

ปชา” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “หมู่สัตว์” ทำให้ผู้ไม่คุ้นสำนวนบาลีเข้าใจไปว่าหมายถึงหมู่สัตว์เดรัจฉาน แต่ความจริงหมายถึง “หมู่คน” – (ดูความหมายของคำว่า “สัตว์” ที่คำว่า สตฺต บาลีวันละคำ (212) 6-12-55)

ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะท่านว่าผู้คนแม้จะมีจำนวนเป็นพันล้านก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว

ปชา” หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ (progeny, offspring, generation, beings, men, world, mankind)

บาลีเป็น “ปชา” สันสกฤตเป็น “ปฺรชา” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประชา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประชา : (คำนาม) หมู่คน เช่น ปวงประชา. (ส. ปฺรชา; ป. ปชา).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรชา : (คำนาม) ‘ประชา,’ สันตติ, บุตร์หรือสุดา; ราษฎร, ประชาชนทั่วไป; progeny, offspring; people, subjects.”

(๒) “มติ” (มะ-ติ)

รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (มนฺ > )

: มนฺ + ติ = มนติ > มติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา (mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for)

ปชา + มติ = ปชามติ > ประชามติ

พจน.2554 บอกไว้ว่า –

ประชามติ : (คำนาม) มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง. (อ. plebiscite); มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสําคัญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินในปัญหาสําคัญในการบริหารประเทศ. (อ. referendum).”

แปลกันไปแปลกันมา:

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “ประชามติ” เป็นอังกฤษว่า public opinion, a referendum, a plebiscite

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้เก็บคำว่า public opinion เอาไว้ แต่ที่คำว่า public แปลเป็นบาลีว่า mahājana มหาชน (มะ-หา-ชะ-นะ) = มหาชน และที่คำว่า opinion แปลเป็นบาลีว่า mati มติ (มะ-ติ) = ความรู้, ความเห็น

public opinion > มหาชนมติ (มะ-หา-ชะ-นะ-มะ-ติ) ตรงกับที่เราพูดกันว่า มติมหาชน > ประชามติ 

คำว่า plebiscite พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีว่า mahājana-mata-pakāsana มหาชน-มต-ปกาสน (มะ-หา-ชะ-นะ มะ-ตะ ปะ-กา-สะ-นะ) = การแสดงความเห็นของมหาชนให้ปรากฏ

อภิปราย :

การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เราเห็นกันว่า เมื่อมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ ก็ควรให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าสมควรจะทำอย่างไร เรียกว่าแสดงประชามติ

หลักการย่อมเป็นเช่นว่า แต่วิธีการแสดง “ประชามติ” นั้นจะทำอย่างไร จะให้แต่ละคนเอามติของตนไปแสดงไว้ที่ไหนและแสดงอย่างไร

ธรรมชาติของคนย่อมอยู่เป็นหมู่คณะ และต้องมีผู้นำ ดังที่มีคำกล่าวว่า “สัตว์ต้องต้อน คนต้องนำ”

: ประชามติ โดยธรรมชาติก็คือ มติของผู้นำ

: แต่ถูกปิดบังไว้ด้วยถ้อยคำ-ว่าเป็นมติของประชา

10-4-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย