บาลีวันละคำ

อาทิพรหมจรรย์ (บาลีวันละคำ 1,510)

อาทิพรหมจรรย์

ศัพท์วิชาการที่ชาวพุทธควรรู้

อ่านว่า อา-ทิ-พฺรม-มะ-จัน

ประกอบด้วย อาทิ + พรหมจรรย์

(๑) “อาทิ” (อา-ทิ)

รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + อิ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ทา > )

: อา + ทา = อาทา > อาท + อิ = อาทิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขาถือเอาทีแรก

กฎ : ทา ธาตุ = “ให้” แต่เมื่อมี “อา” (คำอุปสรรค = กลับความ) นำหน้า จึงกลับความหมายจาก “ให้” (give) กลายเป็น “เอา” (take)

อาทิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) จุดเริ่มต้น, เบื้องแรก (starting-point, beginning)

(2) เบื้องต้น, ในชั้นแรก, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า (beginning, initially, first, principal, chief)

(3) เริ่มด้วย, เป็นที่หนึ่ง, …และอื่น ๆ, …และต่อๆ ไป (beginning with, being the first, and so on, so forth)

(๒) “พรหมจรรย์

บาลีเป็น “พฺรหฺมจริย” ประกอบด้วย พฺรหฺม + จริย

(ก) “พฺรหฺม” (พฺระ-หฺมะ) รากศัพท์คือ พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ปัจจัย

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ

พฺรหฺม” ใช้ในความหมายหลายนัย เช่น ความดีประเสริฐสุด, เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล, เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์

(ดูเพิ่มเติมที่ : “พรหมจรรย์” บาลีวันละคำ (1,003) 15-2-58)

ในที่นี้ “พฺรหฺม” หมายถึง ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(ข) “จริย” (จะ-ริ-ยะ)

รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย (บางท่านว่าลง ณฺย ปัจจัย ลบ ลง อิ อาคม ไม่ทีฆะต้นธาตุตามอำนาจของปัจจัยเนื่องด้วย )

(1) : จรฺ + อิย = จริย

(2): จรฺ + อิ = จริ + ณฺย > = จริย

จริย” (นปุงสกลิงค์, ถ้าเป็น “จริยา” เป็นอิตถีลิงค์) เป็นคำนามแปลว่า “การประพฤติ” เป็นคุณศัพท์แปลว่า “-ที่ควรประพฤติ

พฺรหฺม + จริย = พฺรหฺมจริย > พรหมจรรย์ แปลตามศัพท์ว่า “คำสอนเป็นเหตุให้ประพฤติสิ่งที่ประเสริฐ” หมายถึง การดำเนินชีวิตในทางดี, ความประพฤติอันเหมาะสม, การประพฤติพรหมจรรย์ (a good walk of life, proper conduct, chastity)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “พรหมจรรย์” ไว้ว่า –

(๑) พรหมจรรย์ ความหมายตามศัพท์คือ “จริยะอันประเสริฐ”, “การครองชีวิตประเสริฐ

(๒) ตามที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงความประพฤติเว้นเมถุน หรือการครองชีวิตดังเช่นการบวชที่ละเว้นเมถุน กล่าวคือไม่ร่วมประเวณีเป็นหลักสำคัญ และตั้งหน้าขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์

(๓) “พรหมจรรย์” เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกหลักคำสอนของพระองค์เมื่อทรงเริ่มประกาศพระศาสนา พรหมจรรย์จึงหมายถึงตัวพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเอง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรหมจรรย์ : (คำนาม) การศึกษาปรมัตถ์, การศึกษาพระเวท; การถือพรตบางอย่าง เช่นเว้นเมถุนเป็นต้น, การบวชซึ่งเว้นเมถุนเป็นต้น. (ส.).”

อาทิ + พฺรหฺมจริย = อาทิพฺรหฺมจริย > อาทิพรหมจรรย์ แปลว่า “ข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์” (belonging to the principles or fundaments of moral life)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อาทิพรหมจรรย์ : หลักเบื้องต้นของพรหมจรรย์, หลักการพื้นฐานของชีวิตที่ประเสริฐ.

อาทิพรหมจรรย์” คำเดิมในคัมภีร์ท่านใช้ว่า “อาทิพฺรหฺมจริยก” (อา-ทิ-พฺระ-หฺมะ-จะ-ริ-ยะ-กะ)

คำว่า “อาทิพฺรหฺมจริยก” นั่นเองเมื่อนำไปขยายคำว่า “สิกฺขา” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “อาทิพฺรหฺมจริยกา” และเรียกควบกันเป็น “อาทิพฺรหฺมจริยกาสิกฺขา” เขียนแบบไทยเป็น “อาทิพรหมจริยกาสิกขา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อาทิพรหมจริยกาสิกขา : หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติเบื้องต้นของพรหมจรรย์ สำหรับป้องกันความประพฤติเสียหาย, ข้อศึกษาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง สิกขาบท ๒๒๗ ที่มาในพระปาฏิโมกข์.

…………

อาทิพรหมจรรย์” หรือ “อาทิพรหมจริยกาสิกขา” นั้น เป็นบันไดขั้นต้นแห่งการก้าวขึ้นสู่เพศบรรพชิต ถ้าก้าวไม่พ้น คือปฏิบัติไม่ได้ ก็เท่ากับขึ้นสู่เพศบรรพชิตไม่ได้นั่นเอง

อาทิพรหมจรรย์” เป็นหลักที่ควบคู่ไปกับ “อภิสมาจาร” หรือ “อภิสมาจาริกาสิกขา” ซึ่งหมายถึง ความประพฤติดีงามที่ประณีตยิ่งขึ้นไป, ขนบธรรมเนียมเพื่อความประพฤติดีงามยิ่งขึ้นไปของพระภิกษุ และเพื่อความเรียบร้อยงดงามแห่งสงฆ์

หรืออาจจำไว้ง่ายๆ ว่า –

(1) “อาทิพรหมจรรย์” คือ ศีล 227 ข้อ

(2) กิริยามารยาทและแบบธรรมเนียมอื่นๆ นอกนี้ เรียกว่า “อภิสมาจาร

ทั้งสองส่วนนี้บรรพชิตในพระพุทธศาสนาต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “อาทิพรหมจรรย์” คือ ศีล 227 เป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นบรรพชิต

ภิกษุผู้ประพฤติสำรวมในศีล 227 แม้บางเวลากิริยาวาจาจะรุ่มร่ามไปบ้าง ก็ยังนับว่าเป็นผู้งามแท้ในศีล

ตรงข้ามกับภิกษุที่ “อาทิพรหมจรรย์” ขาดรุ่งริ่ง แม้จะแต่งกิริยาวาจาให้เรียบร้อยอย่างไร ซึ่งจะนับว่างามแท้นั้นหามิได้เลย

อุปมา :

อาทิพรหมจรรย์” เหมือนอาบน้ำให้เนื้อตัวสะอาด

อภิสมาจาร” เหมือนประแป้งแต่งตัวให้สวยงาม

: ถ้าเรือนร่างยังไม่สะอาด

: ถึงอาภรณ์จะผุดผาด ก็อุจาดมากกว่าเจริญใจ

: ถ้าเรือนร่างสะอาด

: ถึงจะนุ่งผ้าขาดๆ ก็งามพิลาสเสียนี่กระไร

23-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย