บาลีวันละคำ

ประณาม (บาลีวันละคำ 1,522)

ประณาม

แปลว่าอะไรได้บ้าง

อ่านว่า ปฺระ-นาม

ประณาม” บาลีเป็น “ปณาม” อ่านว่า ปะ-นา-มะ รากศัพท์มาจาก (ปะ) (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + นมฺ (ธาตุ = ไหว้, นอบน้อม) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ต้นธาตุเป็น (นมฺ > ณมฺ), ทีฆะ อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (ณมฺ > ณาม)

: + นมฺ = ปนมฺ + = ปนมณ > ปนม > ปณม > ปณาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์เดิมว่า “การน้อมไหว้” หมายถึง การโค้ง, การคำนับ, ความนอบน้อม, การสดุดี (bending, salutation, obeisance)

นักภาษาบอกว่า “ปณาม” เป็นรูปคำนามที่ปรุงออกมาจากคำกริยา “ปณมติ” (ปะ-นะ-มะ-ติ) ซึ่งประกอบรูปเป็น “ปณาเมติ” (ปะ-นา-เม-ติ) และ “ปณามิต” (ปะ-นา-มิ-ตะ) ได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าประสงค์จะรู้ความหมายของคำว่า “ปณาม” ให้ครบถ้วน จึงควรตามไปดูความหมายของคำกริยาดังกล่าวนี้ด้วย

คำกริยาเหล่านั้น ใช้ในความหมายดังนี้ –

(๑) ปณมติ = โค้ง, ทำให้โค้งหรืองอหรือเอียง (to bend, to be bent or inclined)

(๒) ปณาเมติ :

(1) โค้ง หรือก้มหมอบ, เหยียดออก, ยกขึ้น (to bend forth or over, stretch out, raise) เช่นในข้อความว่า อญฺชลึ ปณาเมติ = ยกมือขึ้นทำความเคารพ (to raise the hands in respectful salutation)

(2) ก้มให้หรือหมอบ, ปิด (to bend to or over, to shut) เช่นในข้อความว่า กวาฏํ ปณาเมติ = ปิดประตู (to shut the door)

(3) ทำให้ไป, ขับให้ไป, ให้หลีกไป, ไล่หรือให้กลับไป (to make go away, to turn someone away, give leave, dismiss)

(๓) ปณามิต :

(1) ลุกขึ้น, โค้งหรือเหยียดออก (raised, bent or stretched out)

(2) ไล่ออก, ให้ไป (dismissed, given leave)

จะเห็นได้ว่า “ปณาม” มีความหมายมากกว่า “การน้อมไหว้” ที่เป็นความหมายเด่น

ปณาม” ในบาลี เป็น “ปฺรณาม” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรณาม : (คำนาม) ‘ประณาม,’ การคำนับหรือแสดงความเคารพ; respectful or revenctial salutation.”

โปรดสังเกตว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ปฺรณาม” ไว้เพียงนัยเดียว

ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ประณาม

ในสมัยที่การสะกดคำในภาษาไทยยังไม่ลงตัว เคยมีผู้สะกดคำนี้เป็น “ประนาม” ( -นาม น หนู) แต่ปัจจุบันกำหนดให้สะกดเป็น เณร ตามบาลีสันสกฤต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ประณาม” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ประณาม ๑ : (คำกริยา) น้อมไหว้ เช่น ขอประณามบาทบงสุ์พระทรงศรี. (ส. ปฺรณาม; ป. ปณาม).

(2) ประณาม ๒ : (คำกริยา) กล่าวร้ายให้เขาเสียหาย เช่น ถูกประณามว่าเป็นคนโกง; ขับไล่. (ส. ปฺรณาม; ป. ปณาม).

ในภาษาไทย เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ประณาม” มักเข้าใจกันในความหมายเดียว คือ การกล่าวร้ายให้เขาเสียหาย ความหมายนี้น่าจะเคลื่อนที่มาจากกิริยา “ขับไล่ให้ออกไป” คือตีความว่าในการขับไล่นั้นน่าจะไม่ได้ทำเพียงกายกรรม แต่คงจะต้องใช้วจีกรรมด้วย และวจีกรรมในการขับไล่ก็ต้องเป็นไปในทางกล่าวร้ายเป็นธรรมดา

คนไทยจึงเข้าใจคำว่า “ประณาม” ในความหมายว่า กล่าวร้ายให้เขาเสียหาย ด้วยประการฉะนี้

……………..

ดูก่อนภราดา!

เมื่อถูกประณาม –

: จงถามก่อนว่าเขาประณามว่าอย่างไร

: แล้วจึงค่อยถามต่อไปว่าใครประณาม

(ข้อแรกจงใช้เวลาให้มากและรอบคอบที่สุด

ส่วนข้อหลังจงใช้เวลาให้น้อยที่สุด)

—————-

(สนองตามคำเสนอของพระคุณท่าน Maha Watchara Prasit ผู้อุทิศชีวิตน้อมประณามพระรัตนตรัย)

4-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย