บาลีวันละคำ

อาการปริวิตก (บาลีวันละคำ 2,490)

อาการปริวิตก

ข้อ 7 ในกาลามสูตร: อาการบอก-ออกอาการ

อ่านแบบคำไทยว่า อา-กา-ระ-ปะ-ริ-วิ-ตก

หลักข้อที่ 7 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา อาการปริวิตกฺเกน” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา อาการะปะริวิตักเกนะ

แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือโดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล” (คือประมาณว่า-ดูอาการแล้วมันน่าจะเป็น…)

อาการปริวิตกฺเกน” ภาษาบาลีอ่านว่า อา-กา-ระ-ปะ-ริ-วิ-ตัก-เก-นะ รูปคำเดิมเป็น “อาการปริวิตกฺก” (อา-กา-ระ-ปะ-ริ-วิ-ตัก-กะ) ประกอบด้วยคำว่า อาการ + ปริวิตกฺก

(๑) “อาการ” (อา-กา-ระ)

รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีหธ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: อา + กรฺ = อากรฺ + = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” “ผู้ทำทั่วไป

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อาการ” ในภาษาสันสกฤตไว้ว่า –

อาการ : (คำนาม) การกล่าวท้วง; ลักษณะ; รูป; a hint; a sign or token; form.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ว่า –

(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.

(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี 32 อย่าง เรียกว่า อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.

(๒) “ปริวิตกฺก” (ปะ-ริ-วิ-ตัก-กะ)

รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + ปัจจัย

: ปริ + วิ + ตกฺกฺ = ปริวิตกฺกฺ + = ปริวิตกฺก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด คือยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์โดยรอบด้าน” หมายถึง การตรึกตรอง, การใคร่ครวญ, ความคิด, การพิจารณา (reflection, meditation, thought, consideration)

อาการ + ปริวิตกฺก = อาการปริวิตกฺก (อา-กา-ระ-ปะ-ริ-วิ-ตัก-กะ) แปลว่า “การตรึกตรองตามอาการ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาการปริวิตกฺก” ว่า study of conditions, careful consideration, examination of reasons (การศึกษาถึงสภาพ, การพิจารณาอย่างระมัดระวัง, การตรวจตราถึงเหตุผล)

อาการปริวิตกฺก” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อาการปริวิตกฺเกน” (อา-กา-ระ-ปะ-ริ-วิ-ตัก-เก-นะ)

คัมภีร์อรรถกถาไขความคำว่า “อาการปริวิตกฺเกน” ว่า –

(1) “อญฺญสฺส  วิตกฺกยโต  เอกํ  การณํ  อุปฏฺฐาติ  โส  อตฺเถตนฺติ  อาการปริวิตกฺเกน  คณฺหาติ.” (สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตนิกาย ภาค 2 หน้า 193)

แปลว่า: เชื่อโดยคิดไปตามอาการที่ปรากฏว่า-เมื่อใครคิดจะทำอะไร ย่อมจะมีสิ่งบอกเหตุให้เห็นได้สักอย่างหนึ่ง สิ่งที่เขาส่อออกมานั่นแหละต้องจริงอย่างที่คิด

(2) “สุนฺทรมิทํ  การณนฺติ  เอวํ  การณปริวิตกฺเกนาปิ  มา  คณฺหิตฺถ.” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)

แปลว่า: อย่าเชื่อแม้โดยการตรึกตามเหตุการณ์อย่างนี้ว่า ดูตามรูปการณ์แล้วใช่อย่างนี้แน่

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา อาการปริวิตกฺเกน” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by considering appearances.

ขยายความ :

กาลามสูตรข้อนี้สอนว่า อย่าปลงใจเชื่อโดยอ้างว่า ดูจากอาการที่ปรากฏแล้วมันต้องเป็นอย่างนี้แน่ เช่น – ก็อาการมันบอกอยู่โต้งๆ หลักฐานมันฟ้องอยู่ชัดๆ เหตุผลแวดล้อมมันส่อแสดงออกอย่างนี้ จะไม่ให้เชื่อได้อย่างไร

ความเชื่อของเราอาจจะถูกต้องก็ได้ ท่านไม่ได้บอกว่ามันจะไม่จริง เพียงแต่ท่านเตือนว่า อย่าปักใจเชื่อว่ามันจะต้องจริงอย่างที่เราเชื่อ

หมายความว่า อย่าเอาสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเป็นหลักเกณฑ์ในการเชื่อของตน เพราะอาการที่เราเห็นปรากฏแก่สายตาและชวนให้คิดเห็นว่ามีเหตุที่เป็นไปได้นั้น จริงๆ แล้วอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้

สมมุติว่า เราเห็นหนุ่มสาวคู่หนึ่งเกี่ยวแขนกันออกจากโรงแรมม่านรูดในเวลาเช้าตรู่วันหนึ่งด้วยอาการอีบัดอีโรย

เราคิดตรองไปตามแนวเหตุผลว่า อันว่าโรงแรมม่านรูดนั้นเป็นโรงแรมเฉพาะกิจ เปิดกิจการเพื่อ “กิจกรรมอย่างว่า” โดยเฉพาะ ผู้ที่จะมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ หากไม่ใช่เจ้าของหรือพนักงานบริการแล้ว ก็ย่อมจะมีแต่ผู้มาใช้บริการเท่านั้น และจากการสังเกตบุคลิกแล้ว เขาและหล่อนคู่นั้นไม่มีทางจะเป็นเจ้าของหรือเด็กรับใช้ไปได้

เมื่อประมวลเหตุผลทุกทางแล้วเราจึงเชื่อว่า หนุ่มสาวคู่นั้นเพิ่งจะเสร็จการยุทธ์อันดุเดือดเลือดพล่านมาตลอดคืนและกำลังจะไปหาสถานที่พักฟื้นที่ไหนสักแห่งต่อไป

ว่ากันตามแนวเหตุผลหรือตามอาการที่ปรากฏแล้ว ที่เราเชื่อเช่นนั้นก็นับว่ามีเหตุผลอยู่

แต่ข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่เราเชื่อเสมอไป เพราะคนทั้งสองอาจจะไม่ได้ทำสงครามอะไรกันอย่างที่คิด หากแต่ว่าล่อข้าวเหนียวส้มตำผิดตำราไปหน่อย ก็เลยถ่ายท้องทั้งคืน เช้าขึ้นมาจึงหมดแรงในสภาพที่เราเห็น-ก็เท่านั้นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โปรดระลึกไว้ว่า-สิ่งที่ท่านเห็น

: ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างที่ท่านคิด

#บาลีวันละคำ (2,490)

7-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *