บาลีวันละคำ

แม่ บาลีว่าอย่างไร บุพการี (บาลีวันละคำ 816)

แม่

บาลีว่าอย่างไร

คำต่อไปนี้ ในภาษาบาลีหมายถึง “แม่

บางคำเราคุ้น แต่บางคำก็ไม่ได้นำมาใช้ในภาษาไทย

(1) อมฺพา, อมฺมา

(2) ชนนี, ชนิกา, ชเนตฺตี

(3) โทหฬินี

(4) มาตุ, มาตา, มารดา

(5) สุหทา

(6) โตเสนฺตี, โปเสนฺตี

– “อมฺพา” แปลว่า “ผู้รักษาบุตรธิดา” “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหาด้วยความรัก” “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย” “ผู้อันบุตรธิดาบูชา

– “อมฺมา” แปลว่า “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย” “ผู้อันบุตรธิดาบูชา

– “ชนนี” “ชนิกา” “ชเนตฺตี” แปลว่า “ผู้ยังบุตรให้เกิด” หรือ “ผู้ให้กำเนิด

– “โทหฬินี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความปรารถนาสอง” = คนแพ้ท้อง

– “มาตุ” “มาตา” “มารดา” แปลว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ” “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

– “สุหทา” แปลว่า “ผู้มีใจดี

– “โตเสนฺตี” แปลว่า “ผู้ปลอบโยน

– “โปเสนฺตี” แปลว่า “ผู้เลี้ยงดู

ใน โสณนันทชาดก สัตตตินิบาต ท่านพรรณนาหัวอกคนเป็นแม่ไว้น่าฟัง

ขอถอดความนำมาเสนอพร้อมทั้งต้นฉบับภาษาบาลี เพื่อบูชาพระคุณแม่

(๑)

อากงฺขมานา  ปุตฺตผลํ

เทวตาย  นมสฺสติ

นกฺขตฺตานิ  จ  ปุจฺฉติ

อุตุสํวจฺฉรานิ  จ.

แม่อยากมีลูกไหนจะปาน

ถึงกับบนบานศาลกล่าว

เฝ้าดูฤกษ์ยาม

ถามวันเดือนปี

(เช่นว่าถ้าลูกเกิดปีนี้จะเป็นเด็กแบบไหน

แล้วเกิดเดือนไหนจะเป็นเด็กแบบนี้)

(๒)

ตสฺสา  อุตุสิ  นหาตาย

โหติ  คพฺภสฺสวกฺกโม

เตน  โทหฬินี  โหติ

สุหทา  เตน  วุจฺจติ.

บำรุงรักษาตัวตามวิธี

จนพอรู้ว่ามีครรภ์ ก็อยากนั่นโน่นนี่

ท่านจึงเรียกแม่ว่า “โทหฬินี” = คนแพ้ท้อง

และเรียกว่า “สุหทา” = คนใจดี-เพราะดีใจ (ที่จะได้ลูก)

(๓)

สํวจฺฉรํ  วา  อูนํ  วา

ปริหริตฺวา  วิชายติ

เตน  สา  ชนยนฺตีติ

ชเนตฺตี  เตน  วุจฺจติ.

นับเป็นปี หรือจะน้อยกว่านี้ก็น้องๆ

ที่แม่คอยประคับประคองกว่าจะคลอดเจ้าโฉมงาม

แม่จึงได้นามว่า “ชนยนฺตี” –

และ “ชเนตฺตี” = ผู้ให้กำเนิด

(๔)

ถนกฺขีเรน  คีเตน

องฺคปาวุรเณน  จ

โรทนฺตํ  ปุตฺตํ  โตเสติ

โตเสนฺตี  เตน  วุจฺจติ.

ด้วยน้ำนม เพลงกล่อม และอ้อมกอด

ลูกร้อง แม่ก็พร่ำพลอดปลอบโยนให้ยิ้มได้

แม่จึงได้นามว่า “โตเสนฺตี” = ผู้ปลอบโยน

(๕)

ตโต  วาตาตเป  โฆเร

มมฺมํ  กตฺวา  อุทิกฺขติ

ทารกํ  อปฺปชานนฺตํ

โปเสนฺตี  เตน  วุจฺจติ.

ยามที่ลมแรงและแดดกล้า

แม่ก็ผวาหาลูกด้วยหัวใจที่ไหวหวั่น

ลูกแม่ยังเล็กไม่เดียงสากระนั้น ดังฤๅจะดูแลตัวเองได้

แม่จึงได้นามว่า “โปเสนฺตี” = ผู้เลี้ยงดู

(๖)

ยญฺจ  มาตุ  ธนํ  โหติ

ยญฺจ  โหติ  ปิตุทฺธนํ

อุภยมฺเปตสฺส  โคเปติ

อปิ  ปุตฺตสฺส  เม  สิยา.

ทรัพย์ใดของพ่อแม่

ก็เฝ้าแต่ดูแลรักษา

คิดถึงวันข้างหน้า –

“..เก็บไว้ให้ลูกแม่ ..”

(๗)

เอวํ  ปุตฺต  อทุํ  ปุตฺต

อิติ  มาตา  วิหญฺญติ

ครั้นถึงวัยเรียน แม่ก็เวียนแต่ทุกข์

“เรียนนี่ไหมลูก, นั่นล่ะลูกเรียนไหม”

ลำบากอย่างไร –

แม่ก็ยอม

(๘)

ปมตฺตํ  ปรทาเรสุ

นิสฺสิเว  ปตฺตโยพฺพเน

สายํ ปุตฺตํ  อนายนฺตํ

อิติ  มาตา  วิหญฺญตีติ.

ครั้นถึงวัยหนุ่มสาว

แม่ก็เกรงลูกจะอื้อฉาวในเชิงชู้

เย็นย่ำค่ำคืนก็เฝ้าแต่คอยดูว่าป่านฉะนี้ไฉนยังไม่กลับ –

ดวงแดแม่จะพลอยดับไปด้วย ฉะนี้แล.

: สำหรับลูก บางวันเท่านั้นเป็นวันแม่

: แต่สำหรับแม่ ทุกวันเป็นวันของลูก

—————

(ปรับปรุงจาก แม่ : บาลีวันละคำ (454)

สำหรับแม่และลูกที่พลาดคำนี้เมื่อปีที่แล้ว)

#บาลีวันละคำ (816)

12-8-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *