บาลีวันละคำ

อหิวาตกโรค (บาลีวันละคำ 835)

อหิวาตกโรค

อ่านว่า อะ-หิ-วา-ตะ-กะ-โรก

ประกอบด้วยคำว่า อหิ + วาตก + โรค

(1) “อหิ” (อะ-หิ) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่แม้จะไม่มีเท้าก็สามารถไปได้” หมายถึง งู

(2) “วาตก” (วาต + ก, วา-ตะ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันเกี่ยวกับลม

(3) “โรค” (โร-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เสียดแทง” “อาการที่ทำลายอวัยวะน้อยใหญ่

อหิ + วาตก + โรค = อหิวาตกโรค (อ่านแบบบาลีว่า อะ-หิ-วา-ตะ-กะ-โร-คะ) นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปลตามศัพท์ว่า “โรคลมมีพิษเพียงดังพิษแห่งงู

ในคัมภีร์ ท่านขยายความคำว่า “อหิวาตกโรค” ว่า “มารพฺยาธิ” แปลว่า “โรคของมาร” หมายถึงโรคที่ทำให้ถึงตายได้อย่างรวดเร็วและครั้งละมากๆ

ในพระไตรปิฎกมีชื่อโรค “วิสูจิกา” ท่านแปลเป็นไทยว่า “โรคลงราก

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า “วิสูจิกาติ มหนฺโต วิเรจนโก” แปลว่า “วิสูจิกา คือโรคที่ทำให้ถ่ายอย่างขนานใหญ่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสูจิกา” เป็นภาษาอังกฤษว่า cholera

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล cholera เป็นไทยว่า อหิวาตกโรค

เป็นอันว่า “อหิวาตกโรค” และ “วิสูจิกา” เป็นโรคชนิดเดียวกัน เรียกกันว่า “อหิวาต์” (อะ-หิ-วา) ซึ่งตัดมาจากคำเต็มว่า “อหิวาตกโรค” แต่ไม่มีใครเรียกว่า “วิสูจิกา” เอ่ยถึงคำนี้ก็ไม่มีใครรู้จัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อหิวาต์, อหิวาตกโรค : (คำนาม) ชื่อโรคระบาดชนิดหนึ่ง มีอาการลงราก”

คำว่า “ลงราก” คือ “ลง” กับ “ราก” พจน.54 บอกไว้ว่า –

(1) ลง : (คำกริยา) ท้องเดิน เช่น ทั้งลงทั้งราก.

(2) ราก : (คำกริยา) อาเจียน, อ้วก, สํารอกออกทางปาก. (คำนาม) อาการที่สํารอกออกมาทางปาก.

อหิวาต์ หรือ อหิวาตกโรค คนไทยเรียกรู้กันว่า “โรคห่า

พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ห่า :  ชื่อผีจําพวกหนึ่ง ถือกันว่าทําให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้คนตายจำนวนมาก เช่น โรคลงราก (อหิวาตกโรค) กาฬโรค จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคห่า”

: ได้ดีมีตำแหน่ง อย่าเข้าไปแย่งกันกิน

: ทำงานเพื่อบ้านเมือง ให้ความดีกระเดื่องไปทั้งแผ่นดิน

: อย่าให้คนเขาก่นด่า จนต้องเรียกห่าลงมากิน

—————

(ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้ท่าน กวิน พ.)

#บาลีวันละคำ (835)

31-8-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *