บาลีวันละคำ

มยํ ภนฺเต (บาลีวันละคำ 2470)

มยํ ภนฺเต

คุ้นปากคุ้นหู แต่อาจจะไม่รู้ความหมาย

อ่านว่า มะ-ยัง พัน-เต

เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “มยํ” และ “ภนฺเต

(๑) “มยํ

เขียนแบบไทยเป็น “มะยัง” อ่านว่า มะ-ยัง เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มยํ” (มะ-ยัง) แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค

มยํ” เป็นพหูพจน์ ถ้าเป็นเอกพจน์เปลี่ยนรูปเป็น “อหํ” (อะ-หัง)

เทียบคำอังกฤษ :

มยํ” = We

อหํ” = I

(๒) “ภนฺเต

อ่านว่า พัน-เต เขียนแบบไทยเป็น “ภันเต” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

ภนฺเต” คำนี้ถ้าจะให้แสดงรากศัพท์ อาจบอกได้ว่า รูปคำเดิมเป็น “ภวนฺต” (พะ-วัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก ภว (ผู้เจริญ, ความเจริญ) + วนฺต ปัจจัย, ลบ ที่สุดศัพท์ (ภว > )

: ภว + วนฺต = ภววนฺต > ภวนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเจริญ” “ผู้เจริญ

ภวนฺต” เมื่อใช้เป็น “อาลปนะ” (คำทัก, คำเรียก addressing) แปลงรูปเป็น “ภนฺเต” และถือว่าเป็นศัพท์จำพวก “นิบาต

ภนฺเต” เป็นคำที่คู่กับ “อาวุโส” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอายุ

ภนฺเต” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่

อาวุโส” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย

ภนฺเต” เทียบคำอังกฤษ คือ Sir, venerable Sir

มยํ ภนฺเต” (มะยัง ภันเต) เป็นวลีที่ใช้เมื่อผู้น้อยหลายคนพูดกับผู้ใหญ่ เช่น ในคำอาราธนาศีล 5 ที่ขึ้นต้นว่า “มยํ ภนฺเต วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย … ” และคำถวายสิ่งของ (เช่นถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์) ที่ขึ้นต้นว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต … ” เป็นต้น

มยํ ภนฺเต” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย … ” (Venerable Sir, We …) เป็นคำที่เรามักได้ยินจนชินหู โดยเฉพาะเมื่อรับศีลและถวายทานในพิธีบำเพ็ญกุศลต่างๆ แต่ส่วนมากมักไม่เข้าใจความหมายตามศัพท์ คงเข้าใจแต่เพียงว่าเป็นคำพระ-คำบาลีที่กล่าวกันไปตามรูปแบบของพิธีกรรม

คนไทย-ชาวพุทธ-กล่าวคำว่า “มยํ ภนฺเต” กันเสมอด้วยความศรัทธา ถ้าสนใจศึกษาความหมายกันอีกสักหน่อยก็จะได้ปัญญามาสนับสนุนศรัทธาให้มั่นคงพร้อมไปกับรู้ความหมายในคำที่ตนกล่าว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เปิดหัวใจให้ขาว ก็จะเห็นสาระของพิธีกรรม

: ปล่อยหัวใจให้ดำ ก็จะเห็นว่าพิธีกรรมไม่มีสาระ

#บาลีวันละคำ (2,470)

18-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *