บาลีวันละคำ

กีฬา-กรีฑา (บาลีวันละคำ 868)

กีฬา-กรีฑา

อ่านว่า กี-ลา / กฺรี-ทา

(๑) “กีฬา” บาลี

กีฬา” เป็นคำนาม แปลตามศัพท์ว่า “การเล่นสนุก” ถ้าเป็นคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “กีฬติ” (กี-ละ-ติ) แปลว่า “ย่อมเล่น

(๒) “กรีฑา” สันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

กฺรีฑ, กฺรีฑา : (คำนาม) กรีฑา, การเล่น, การลีลา, การกีฬา, การเล่นสนุก; ความลบหลู่; sport, play, pastime, pleasure, amusement; disrespect.”

เมื่อเอ่ยถึง กีฬากรีฑา เรามักนึกถึงคำอังกฤษว่า sport หรือ game

มีคำถามว่า กีฬากรีฑา หมายถึง sport หรือหมายถึง game

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กีฬติ” ว่า to play, sport, enjoy or amuse oneself (เล่น, เล่นกีฬา, ทำตนให้เพลิดเพลินหรือสนุกสนาน)

และแปล “กีฬา” ว่า play, sport, enjoyment (การเล่น, กีฬา, ความสนุกเพลิดเพลิน)

โปรดสังเกตว่า ไม่มีคำว่า game แต่มีคำว่า sport

อาจสรุปเป็นเบื้องต้นว่า กีฬากรีฑา ในความหมายดั้งเดิม หมายถึงการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งน่าจะตรงกับ sport คือมิได้มีคู่แข่งเพื่อจะเอาชนะหรือเพื่อการไล่ล่า

ส่วน game มีนัยว่าเป็นการมุ่งเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อความเป็นเลิศของตนเอง ความเพลิดเพลินเป็นเพียงผลพลอยได้ และบางกรณีอาจไม่ได้คำนึงถึงเลยด้วยซ้ำ โดยนัยนี้ย่อมไม่ใช่ความหมายที่แท้ของ กีฬากรีฑา

ข้อสังเกตเพิ่มเติม :

(1) คำว่า gamekeeper = ผู้ดูแลสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อล่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีว่า “มิครกฺขก” = “ผู้รักษาเนื้อ

(2) ในภาษาบาลี มีคำว่า “มิควธ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า deer-slaying (การล่าเนื้อ) และมีคำว่า “มิควิตฺตก” แปลว่า amateur of hunting (ผู้พอใจในการล่าสัตว์)

(3) อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า sportsman เป็นบาลีว่า “มิควกุสล” = “ผู้ฉลาดในการล่าสัตว์

จะเห็นได้ว่า บางกรณี sport ก็มีนัยไปในทางไล่ล่าด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กีฬา : (คำนาม) กิจกรรมหรือการเล่นที่มีกฎกติกากำหนด เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากรุก ปีนเขา ล่าสัตว์. (ป.). (ดู กรีฑา ๑).

(2) กรีฑา ๑ : (คำนาม) กีฬาอย่างหนึ่ง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทลู่ เช่น การวิ่งระยะทางต่างๆ วิ่งผลัด วิ่งข้ามรั้ว ซึ่งในการแข่งขันต้องมีทางหรือแนวทางวิ่ง อีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทลาน เช่น กระโดดสูง พุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก ซึ่งต้องมีสถานที่กว้างเพื่อการแข่งขัน; การเล่นสนุก เช่น กรีฑาร่าเริงรื่น; การประลองยุทธ์. (ส.).

(3) กรีฑา ๒ : (คำนาม) การเล่นสมพาส เช่น ในกามกรีฑากล. (กฤษณา). (ส.).

น่าสังเกตว่า บทนิยามคำว่า “กีฬา” ใน พจน.54 นี้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญผิดไปจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งบอกไว้เพียงว่า –

กีฬา : (คำนาม) กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต. (ป.).”

เป็นบทนิยามที่ตรงตามความหมายของ “กีฬา” ในภาษาเดิม คือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเป็นหลัก มิใช่ “การแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ” หรือเพื่อเอาชนะคู่แข่ง คือเป็น sport มิใช่เป็น game

: ถ้ายังชนะในสนามหัวใจไม่ได้

: โอกาสปราชัยก็มีทุกสนาม

——————

(ร่วมทางสงสัยไปกับ Supachoke Thaiwongworakool

Games vs Sports : อะไรคืออะไรกันแน่)

#บาลีวันละคำ (868)

3-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *