บาลีวันละคำ

อุบล (บาลีวันละคำ 2438)

อุบล

ดอกไม้แห่งความรัก

อ่านว่า อุ-บน

อุบล” บาลีเป็น “อุปฺปล” อ่านว่า อุบ-ปะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) อุ (แทนศัพท์ว่า “อุทก” = น้ำ) + ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ปัจจัย, ซ้อน ปฺ, ลบสระที่สุดธาตุ (ปา > )

: อุ + ปฺ + ปา = อุปฺปา + = อุปฺปาล > อุปฺปล แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่ดื่มน้ำ” 

(1) อุ (แทนศัพท์ว่า “อุทก” = น้ำ) + ปลฺ (ธาตุ = ลอย, ไป) + ปัจจัย, ซ้อน ปฺ

: อุ + ปฺ + ปลฺ = อุปฺปลฺ + = อุปฺปล แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่ลอยอยู่บนน้ำ

อุปฺปล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ดอกบัว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปฺปล” ว่า the [blue] lotus; a waterlily (ดอกอุบล [เขียว]; พืชจำพวกบัว)

บาลี “อุปฺปล” สันสกฤตเป็น “อุตฺปล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อุตฺปล : (คำนาม) บัวเขียว; ดอกไม้; a blue lotus; a flower; – (คำวิเศษณ์) บาง; thin.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบล : (คำนาม) บัวสาย. (ป. อุปฺปล; ส. อุตฺปล).”

โปรดสังเกตว่า บาลี-สันสกฤต แปล “อุปฺปลอุตฺปล” ว่า blue lotus คือบัวเขียว แต่พจนานุกรมไทยบอกว่า “อุบล” คือ บัวสาย

อภิปรายขยายความ :

ในคัมภีร์ชาดก มีชาดกเรื่องหนึ่งชื่อ “สาเกตชาดก” (สา-เก-ตะ-ชา-ดก) อยู่ในหมวดทุกนิบาต (อ่านว่า ทุ-กะ-นิ-บาด คือหมวดที่แต่ละชาดกมี 2 คาถา) พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 324 มีคาถาบทหนึ่ง ข้อความว่า –

ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ….. ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา

เอวนฺตํ ชายเต เปมํ ….. อุปฺปลํว ยโถทเก.

(ปุพเพวะ สันนิวาเสนะ ….. ปัจจุปปันนะหิเตนะ วา

เอวันตัง ชายะเต เปมัง ….. อุปปะลังวะ ยะโถทะเก.)

แปลความว่า –

ความรักย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ 2 ประการ

(ประการใดประการหนึ่ง) คือ

การอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน 1

ความเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบัน 1

เหมือนดอกบัวอาศัยน้ำและเปือกตมเกิดขึ้นได้ฉะนั้น

คาถานี้ท่านนำมาอ้างไว้อรรถกถาธรรมบท สามาวตีวัตถุ (เรื่องนางสามาวดี) ตอนโฆสกเศรษฐี (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2)

ตามความในชาดกเรื่องนี้ คงไม่ผิดเลยถ้าจะกล่าวว่า หัวใจของความรักก็คือ “หัวใจ

หนึ่ง คือหัวใจที่ผูกพันกันมาแต่ปางก่อน

สอง คือหัวใจที่เกื้อกูลกันในปัจจุบัน

หัวใจจึงคือ “หัวใจ” ของความรัก

และดอกบัวคือสัญลักษณ์ของหัวใจ

อีกประการหนึ่ง ท่านย่อมว่าดอกบัวคือเครื่องหมายแห่งปัญญา ดังพุทธอาสน์คือที่ประทับแห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ย่อมนิยมประดิษฐ์ประดับเป็นรูปกลีบบัวอันเป็นเครื่องหมายแห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณคือพระปัญญาอันเยี่ยมยอดเป็นเหตุให้ตรัสรู้ได้โดยชอบด้วยพระองค์เอง

ความรักที่มีปัญญาเป็นประทีปส่องหัวใจจึงย่อมเป็นรักที่สว่างไสวเบิกบานเปี่ยมสุขทุกประการ

ดอกบัวจึงสมที่จะเป็น “ดอกไม้แห่งความรัก” ด้วยประการทั้งปวง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าในหัวใจมีดอกบัว

: ความรักอย่างหน้ามืดตามัวก็จะไม่มี

#บาลีวันละคำ (2,438)

14-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *