บาลีวันละคำ

สัทธิวิหาริก (บาลีวันละคำ 2419)

สัทธิวิหาริก

“อยู่ด้วยกัน” แต่ไม่รู้จัก

อ่านว่า สัด-ทิ-วิ-หา-ริก

ประกอบด้วยคำว่า สัทธิ + วิหาริก

(๑) “สัทธิ

บาลีเขียน “สทฺธิ” (สัด-ทิ) เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” บาลีไวยากรณ์ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง จัดไว้ในกลุ่มที่เรียกว่า “นิบาตมีเนื้อความต่าง ๆ

สทฺธิ” รูปเดิมเป็น “สทฺธึ” (สัด-ทิง) นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “สทฺธึ = พร้อม, กับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สทฺธึ” ว่า together (ด้วยกัน)

(๒) “วิหาริก

บาลีอ่านว่า วิ-หา-ริ-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่, อาศัย) + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: วิ + หรฺ = วิหรฺ + ณิก = วิหรณิก > วิหริก > วิหาริก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อาศัยอยู่” หมายความว่า อาศัยอยู่, ดำรงชีวิตอยู่; อยู่ในสภาพหรือสถานะเช่นนั้นๆ (dwelling, living; being in such & such a state or condition)

สทฺธึ + วิหาริก ลบนิคหิตที่ –ธึ (สทฺธึ > สทฺธิ)

โปรดทราบว่า รูปสระ อึ ในภาษาไทยนั้น เมื่อเอามาใช้เขียนคำบาลี หมายถึงสระ อิ + นิคหิต คือ อัง อ่านว่า อิง (อิ + อัง = อิง) ถ้าใช้เขียนคำบาลีเช่น “อหึสโก” อ่านว่า อะ-หิง-สะ-โก ไม่ใช่ อะ-หึ-สะ-โก

: สทฺธึ + วิหาริก = สทฺธึวิหาริก > สทฺธิวิหาริก (สัด-ทิ-วิ-หา-ริ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อาศัยอยู่ด้วยกัน” หมายถึง “อยู่รวมกับอีกผู้หนึ่ง” (together with another) คือ ผู้อยู่ด้วยกัน, ภิกษุด้วยกัน; ศิษย์ (a co-resident, brother-bhikkhu; pupil)

สทฺธิวิหาริก” ในภาษาไทยเขียนเป็น “สัทธิวิหาริก” ในบาลีคำนี้ที่ยังคงรูปเป็น “สทฺธึวิหาริก” ก็มี ในภาษาไทยเขียนเป็น “สัทธิงวิหาริก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

สัทธิงวิหาริก, สัทธิวิหาริก : (คำนาม) คําเรียกผู้ได้รับการอุปสมบทแล้ว, ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์องค์ใดก็เป็นสัทธิงวิหาริกของพระอุปัชฌาย์องค์นั้น, (ใช้เข้าคู่กับ อุปัชฌาย์). (ป.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

สัทธิงวิหาริก, สัทธิวิหาริก : (คำนาม) คำเรียกผู้ได้รับการอุปสมบทแล้ว, ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์องค์ใดก็เป็นสัทธิงวิหาริกของพระอุปัชฌาย์องค์นั้น.”

ก็คือตัดข้อความข้างท้ายที่ว่า “(ใช้เข้าคู่กับ อุปัชฌาย์). (ป.)” ออกไป

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “สัทธิวิหาริก” หรือ “สัทธิงวิหาริก” ไว้ดังนี้ –

…………..

สัทธิวิหาริก, สัทธิงวิหาริก : “ผู้อยู่ด้วย” เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท ถ้าอุปสมบทอาศัยอุปัชฌาย์รูปใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของอุปัชฌาย์รูปนั้น, ศิษย์ของอุปัชฌาย์, เรียกว่า สัทธิวิหารี ก็มี

…………..

ได้ความว่า พระอุปัชฌาย์รูปใดเป็นผู้ให้กุลบุตรผู้ใดบวชเป็นภิกษุ ภิกษุรูปนั้นได้ชื่อว่าเป็น “สัทธิวิหาริก” ของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น

ตามหลักพระวินัยกำหนดว่า ภิกษุเมื่อบวชแล้วต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี เพื่อรับการอบรมฝึกหัดศึกษาให้รู้เข้าใจวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของสงฆ์

เวลา 5 ปีเป็นเหมือนระยะเวลาที่นักเรียนนักศึกษาเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งและสอบผ่านตามกระบวนวิชาจึงจะถือว่าจบการศึกษาตามหลักสูตรนั้น

เวลา 5 ปีที่อยู่กับพระอุปัชฌาย์เป็นระยะเวลาเพียงพอที่พระใหม่จะเรียนรู้และฝึกหัดกิจต่างๆ ถึงระดับที่สามารถรักษาตัวให้อยู่ในพระธรรมวินัยได้อย่างมั่นใจ เมื่อครบเวลา 5 ปีแล้วท่านจึงจะอนุญาตให้แยกไปอยู่ตามลำพังได้

คำว่า “สัทธิวิหาริก” จึงมีมูลเหตุมาจากการอยู่ด้วยกันกับพระอุปัชฌาย์นี่เอง

มีคำอันเนื่องกันที่ควรรู้ไว้ด้วยคือ “สัทธิวิหาริกวัตร” หมายถึง ข้อควรปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก, หน้าที่อันอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก คือ

(1) เอาธุระในการศึกษา

(2) สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่นๆ

(3) ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ

(4) พยาบาลเมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ

อาจจำเป็นหลักไว้ว่า “สัทธิวิหาริก” ย่อมคู่กับ “อุปัชฌาย์” เสมอไป เช่นเดียวกับ “อันเตวาสิก” คู่กับ “อาจารย์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สมัยก่อนบวชห้าปี

: สมัยนี้บวชห้าวัน

: อุปัชฌาย์เป็นใครไม่สำคัญ

: สิทธิวิหาริกของฉันก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

—————

(ตามคำแนะนำของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์)

#บาลีวันละคำ (2,419)

26-1-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *