บาลีวันละคำ

การุณยฆาต (บาลีวันละคำ 2417)

การุณยฆาต

ใช้อำนาจอะไรตัดสิน?

อ่านว่า กา-รุน-ยะ-คาด

ประกอบด้วยคำว่า การุณย + ฆาต

(๑) “การุณย

บาลีเป็น “การุญฺญ” (กา-รุน-ยะ) รากศัพท์มาจาก กรุณา + ณฺย ปัจจัย

(ก) “กรุณา” รากศัพท์มาจาก –

(1) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อุณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กรฺ + อุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนดีเมื่อผู้อื่นมีทุกข์

(2) บทหน้า + รุธิ (ธาตุ = ปิด, กั้น) + ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ ธิ) เป็น อ, ธ เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + รุธิ > รุธ > รุณ + = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กั้นความสุขไว้” (คือห้ามความสุขตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น)

(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง (ที่ –รฺ) เป็น อุ, ยุ เป็น อน, เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กรฺ > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่น

(4) กิรฺ (ธาตุ = กำจัด, ปัดเป่า) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ-) เป็น , เป็น อุ, ยุ เป็น อน, เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กำจัด” (คือกำจัดทุกข์ของผู้อื่น)

(5) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุณ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ) เป็น อ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กิ > + รุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่เบียดเบียน” (คือเบียดเบียนความเห็นแก่ตัวออกไป)

(6) กิรฺ (ธาตุ = กระจาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ-) เป็น , เป็น อุ, ยุ เป็น อน, เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กระจาย” (คือแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น)

กรุณา” หมายถึง ความกรุณา, ความสงสาร (pity, compassion)

กรุณา” เป็นธรรมข้อที่ 2 ในพรหมวิหาร 4

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

กรุณา : ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กรุณา” ไว้ว่า –

กรุณา : (คำนาม) ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา; ใช้ประกอบหน้ากริยาแสดงความขอร้องอย่างสุภาพ เช่น กรุณาส่ง; ใช้ร่วมกับคำ พระ เป็นสรรพนามสำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น กราบบังคมทูลพระกรุณา. (ป.).”

(ข) กรุณา + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ ที่ ณฺย (ณฺย > ) และ อา ที่ กรุณ (กรุณา > กรุณ), แปลง ณฺย (คือ ที่ กรุ และ ที่ ณฺ ปัจจัย) เป็น ญฺญ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ -(รุณา) เป็น อา (กรุณา > การุณา)

: กรุณา + ณฺย = กรุณาณฺย > กรุณาย > กรุณย > กรุญฺญ > การุญฺญ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความกรุณา” และมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “กรุณา” (compassion)

บาลี “การุญฺญ” สันสกฤตเป็น “การูณฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

การูณฺย : (คำนาม) ความกรุณา; compassion, tenderness.”

บาลี “การุญฺญ” ภาษาไทยใช้เป็น “การุญ” และอิงสันสกฤตเป็น “การุณย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

การุญ, การุณย์ : (คำนาม) ความกรุณา. (ป., ส.).”

(๒) “ฆาต

บาลีอ่านว่า คา-ตะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง หนฺ เป็น ฆาต

: หนฺ+ = หน > ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)

ในทางหลักภาษา “ฆาต” อาจแปลได้หลายลักษณะ คือ

– การทำให้ตาย > การฆ่า

– ผู้ทำให้ตาย > ผู้ฆ่า

– อุปกรณ์เป็นเครื่องทำให้ตาย > เครื่องมือฆ่า

– สถานที่เป็นที่ทำให้ตาย > ที่ฆ่า > ที่ตาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฆาต, ฆาต– : (คำนาม) การฆ่า, การทำลาย. (คำกริยา) ตี เช่น เจ้าวิลาสฆาตกลองเร่งกองรบ (อภัย).”

การุณย + ฆาต = การุณยฆาต แปลว่า “การฆ่าเพราะความกรุณา

อภิปรายขยายความ :

การุณยฆาต” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า Euthanasia หรือ Mercy Killing

คำว่า “การุณยฆาต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ความหมายของ “การุณยฆาต” คือ เมื่อเห็นว่า บุคคลหรือสัตว์ใดๆ ประสบอันตรายจากเหตุใดๆ ก็ตาม ถึงขั้นที่เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถรักษาเยียวยาให้รอดชีวิตได้ และถ้าปล่อยไว้ บุคคลหรือสัตว์นั้นๆ จะได้รับทุกขเวทนาหรือทนทุกข์ทรมาน จึงฆ่าเสีย การฆ่าด้วยเหตุดังว่านี้ เรียกว่า “การุณยฆาต

ตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ ในภาพยนตร์ลูกทุ่งตะวันตก (cowboy) ก็คือเมื่อม้าประสบอุบัติเหตุและเห็นว่าไม่รอดแน่ เจ้าของก็จะยิงม้าให้ตายเพื่อไม่ให้มันทรมานต่อไปอีก นี่ก็คือ “การุณยฆาต

ปัญหาเกี่ยวกับ “การุณยฆาต” ที่ถกเถียงกันในปัจจุบันก็คือ ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคโดยไม่มีทางรักษาให้รอดชีวิตได้ สมควรหรือไม่ที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ด้วยวิธี “การุณยฆาต” ?

ถามว่า “การุณยฆาต” ผิดศีลหรือไม่? ก็ตอบได้ชัดเจนว่า ผิดศีลแน่นอน-ถ้าครบองค์ประกอบของศีลข้อปาณาติบาต

ถามว่า “การุณยฆาต” เป็นบาปหรือไม่? ก็ต้องหาคำจำกัดความคำว่า “บาป” ให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงตอบไปตามความหมายนั้น

จะเห็นได้ว่า “การุณยฆาต” เป็นเรื่องที่ยังมีปัญหาอีกมาก

มีแง่คิดข้อหนึ่งว่า ที่ตัดสินว่าบุคคลหรือสัตว์นั้นๆ ต้องทนทุกข์ทรมาน จึงสมควรทำให้ตายนั้น เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินเช่นนั้น ก็จะเห็นได้ว่าเราใช้ “ความรู้สึก” เป็นเครื่องตัดสิน เมื่อเป็น “ความรู้สึก” ก็ย่อมจะหาข้อยุติได้ยากหรือหาข้อยุติไม่ได้ เพราะแต่ละคนย่อมมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปดังคำที่เราพูดกันว่า นานาจิตตัง

คำสอนเรื่อง “พรหมวิหารภาวนา” คือการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่คนส่วนมากมักจะคิดไม่ถึง เราคุ้นกันแต่เรื่อง “เจริญเมตตา” ที่พูดกันว่า “แผ่เมตตา” แต่แทบจะไม่รู้จัก “เจริญอุเบกขา”

ซ้ำร้ายเรายังเข้าใจคำว่า “อุเบกขา” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันเสียเป็นส่วนมาก คือเข้าใจไปว่า “อุเบกขา” คือวางเฉย ไม่รู้ไม่เห็น ไม่คิด ไม่เอาใจใส่ ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องทำอะไร

“เจริญอุเบกขา” เป็นงานทางใจที่ต้องประกอบด้วยปัญญา

โปรดพิจารณาคำ “เจริญอุเบกขา” ดังต่อไปนี้

…………..

สัพเพ  สัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น

กัมมัสสะกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน

กัมมะทายาทา เป็นผู้รับผลของกรรม

กัมมะโยนี เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด

กัมมะพันธู เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

กัมมะปะฏิสะระณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ  จักทำกรรมอันใดไว้

กัลยาณัง  วา  ปาปะกัง วา  ดีหรือชั่ว

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

…………..

เมื่อไปพบกรณีที่ไม่สามารถเจริญเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตาได้ คือไม่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยวิธีใดๆ อีกแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ใช้วิธี “การุณยฆาต” ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่าดีหรือไม่ดี

แต่ท่านแนะให้ “เจริญอุเบกขา” อันเป็นวิธีที่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต เป็นการทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง โดยไม่เอา “ความรู้สึก” เข้ามาเป็นตัวตัดสิน

นั่นก็คือ ให้กรรมของเขาตัดสินเขา ไม่ใช่เราเป็นคนตัดสินแทน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เจริญอุเบกขาให้ถูกวิธีและถึงขนาด

: การุณยฆาตก็ไม่ต้องมี

#บาลีวันละคำ (2,417)

24-1-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *