บาลีวันละคำ

ลักขี (บาลีวันละคำ 927)

ลักขี

คำบาลีที่ไม่ได้พูดกันแพร่หลาย แต่ก็..น่ารู้

ลักขี” บาลีเขียน “ลกฺขี” อ่านว่า ลัก-ขี เหมือนกัน

ลกฺขี” รากศัพท์มาจาก –

(1) “ลกฺข” (ลัก-ขะ)

ลกฺข” รากศัพท์มาจาก : ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด, เห็น) + ปัจจัย = ลกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย” “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” หมายถึง เป้า, คะแนน, เครื่องหมาย, จุดที่มองเห็น

(2) ลกฺข (จากข้อ 1) + อี ปัจจัย = ลกฺขี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันเขามองเห็นเพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ” (คือมีความดีเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรสรรเสริญ คนทั้งหลายจึงมองเห็น) (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดสัตว์โลก” (คือกำหนดว่าดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานเนื่องจากรู้จักสรรค์สร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่ตัวเองและหมู่คณะได้ หรือกล่าวรวบยอดว่าเป็นผู้สามารถพัฒนาตนเองได้)

ลกฺขี” หมายถึง (1) โชค, เคราะห์ดี, ความสำเร็จ, สวัสดิภาพส่วนตัว (luck, good fortune, success, personal welfare) (2) ความสง่างาม, อำนาจ (splendour, power) (3) ความรุ่งเรือง (prosperity)

ข้อสังเกต:

(๑) “ลกฺขี” แปลเป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า luck

(๒) พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล luck ว่า (1) โชค, เคราะห์ (2) เคราะห์ดี, เฮง (3) ถูกอย่างบังเอิญ (4) (เหรียญ, พลอย) ที่นำเคราะห์ดีมาให้

(๓) luck เติมปัจจัยเป็น lucky คือที่เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า ลักกี้ และเข้าใจกันในความหมายว่า มีโชคดี

(๔) luck > ลกฺข > lucky > ลกฺขี

ถ้ายังไม่เข้าใจว่า ที่นักภาษาบอกว่า ภาษาบาลีสันสกฤตกับภาษาอังกฤษเป็นภาษาตระกูล Indo-European หมายความว่าอย่างไร ก็ขอให้ดูคำว่า lucky > ลกฺขี เป็นตัวอย่าง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล luck และ lucky เป็นบาลีไว้ดังนี้:

(1) luck =

lakkhī ลกฺขี (ลัก-ขี) = ผู้มีโชคดี

sirī สิรี (สิ-รี) = มิ่งขวัญ, มงคล

bhāgya ภาคฺย (พาก-เคียะ) = ความมีโชค

bad luck: alakkhī อลกฺขี (อะ-ลัก-ขี) = ผู้ไม่มีบุญวาสนา (ที่จะมีหรือจะได้เป็น)

good luck: subhagatā สุภคตา (สุ-พะ-คะ-ตา) = ความมีโชคดี, ความมีบุญวาสนา

(2) lucky =

bhaddaka ภทฺทก (พัด-ทะ-กะ) bhadra ภทฺร(พัด-ทฺระ) = เจริญ, ดี, งาม

maṅgala มงฺคล (มัง-คะ-ละ) = มงคล, ความดี, ความเจริญ

subha สุภ (สุ-พะ) = ดี, งาม

dhañña ธญฺญา (ทัน-ยา) = มีความสุข, มีโชคดี

kalyāṇa กลฺยาณ (กัน-เลีย-อา-นะ) = ดี, งาม

kusalo กุสล (กุ-สะ-ละ) = กุศล, ฉลาด, เจริญ

jayaggaha ชยคฺคห (ชะ-ยัก-คะ-หะ) jayaggāha ชยคฺคาห (ชะ-ยัก-คา-หะ) = “คว้าชัยชนะ”, ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ลักขี” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

ลักขี : (คำนาม) โชค, ลาภ. (ป.; ส. ลกฺษมี).”

“ส. ลกฺษมี” หมายความว่า “ลักขี” สันสกฤตเป็น “ลกฺษมี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ลกฺษฺมี” บอกไว้ว่า (คำไทยสะกดตามต้นฉบับ) –

ลกฺษฺมี : (คำนาม) พระชายาของพระวิษณุ, และภควดีแห่งทรัพย์และสมบัติ; ภาคย์, ชัยหรือศรี, บุณโยทัย; นางสีดา, พระชายาของพระราม; โศภา, ภาสุรัคว์หรือศรี; ชายา; วธูของวีรบุรุษ; ขมิ้น; มุกดาผล, ไข่มุกด์; the wife of vishṇu, and goddess of wealth and prosperity; fortune, success, prosperity; Sitā, the wife of Rāma; beauty, splendor; a wife; the wife of a hero; turmeric; pearl.”

ลกฺษฺมี” ภาษาไทยใช้ว่า “ลักษมี” (ลัก-สะ-หฺมี) พจน.54 บอกไว้ว่า –

ลักษมี : (คำนาม) โชคลาภ, ความเจริญ, ทรัพย์; ความงาม, เสน่ห์, สิริ; ชื่อเจ้าแม่แห่งลาภและความงาม เป็นชายาพระนารายณ์. (ส.).”

: ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องผลอะไรจากการทำดี

: เพราะการได้ทำความดีเป็นโชคดีอยู่แล้วในตัว

——————

(ตามความอยากทราบของพระคุณท่าน Nipit In)

#บาลีวันละคำ (927)

1-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *