บาลีวันละคำ

อุโบสถ (บาลีวันละคำ 1,700)

อุโบสถ

อ่านว่า อุ-โบ-สด

อุโบสถ” บาลีเป็น “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)- กับ -(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)

: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่

อุโปสถ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 4 อย่าง –

(1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถกรรม (biweekly recitation of the Vinaya rules by a chapter of Buddhist monks; the days for special meetings of the order, and for recitation of the Pāṭimokkha)

(2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล (observance; the observance of the Eight Precepts; the Eight Precepts observed by lay devotees on Uposatha days)

(3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ (Uposatha days)

(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)

(4) สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (the Uposatha hall; consecrated assembly hall)

อุโปสถ” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุโบสถ ๑ : (คำนาม) เรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรมเช่นสวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ, เรียกย่อว่า โบสถ์; (ภาษาปาก) เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ; เรียกการแสดงพระปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุก ๆ กึ่งเดือน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ว่า การทําอุโบสถ; เรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ. (ป. อุโปสถ; ส. อุโปษธ, อุปวสถ).”

…………..

อุโบสถ” หรือ “โบสถ์” ไม่ว่าจะหมายถึงสถานที่ วันเวลา หรือข้อปฏิบัติ สำหรับชาวพุทธแล้วเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

อุโบสถ” = สถานที่ เป็นคารวสถานซึ่งชาวพุทธให้ความเคารพเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง เพราะเป็นสถานที่สืบอายุพระพุทธศาสนา

อุโบสถ” = วันเวลา เป็นโอกาสที่จะปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้โปร่งโล่งเบาสบาย และมีสมรรถภาพ

อุโบสถ” = ข้อปฏิบัติ เป็นหลักธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจที่เหมาะสำหรับผู้ยังครองเรือนที่ทำให้ชีวิตมีความสุขทั้งทางโลก และสงบทั้งทางธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทางพ้นทุกข์ไม่ได้วกวนเหมือนเขาวงกต

: เพราะอุโบสถคือต้นทางแห่งพระนฤพาน

29-1-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย