บาลีวันละคำ

อรรถประโยชน์ (บาลีวันละคำ 1,711)

อรรถประโยชน์

คำมีระดับที่ถูกลืม

อ่านว่า อัด-ถะ-ปฺระ-โหฺยด

ประกอบด้วย อรรถ + ประโยชน์

(๑) “อรรถ

บาลีเป็น “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + ปัจจัย

: อตฺถฺ + = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ

อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)

(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)

(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

(๒) “ประโยชน์

บาลีเป็น “ปโยชน” อ่านว่า ปะ-โย-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช), แปลง ยุ ปัจจัยเป็น อน (อะ-นะ)

: + ยุชฺ = ปยุชฺ > ปโยช + ยุ > อน = ปโยชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงประกอบ

ปโยชน” สันสกฤตเป็น “ปฺรโยชน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรโยชน : (คำนาม) ‘ประโยชน์’, เหตุ; อวกาศหรือโอกาศ; มูล; การย์; ทรัพย์หรือพัสดุ; ความมุ่งหมาย, จินดาหรืออุบายในใจ cause; occasion; origin; purpose; object; intention; design.”

ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประโยชน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประโยชน์ : (คำนาม) สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้, ผลที่ได้ตามต้องการ, สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ, เช่น ประโยชน์ของการศึกษา ประโยชน์ของโรงเรียน. (ส. ปฺรโยชน; ป. ปโยชน).”

ปโยชน” ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือหมายถึง –

(1) การประกอบการ, ธุรกิจ (undertaking, business)

(2) การแต่งตั้ง, การกำหนด (appointment)

(3) กฎ, คำสั่ง, ข้อห้าม (prescript, injunction)

(4) ความประสงค์, การประยุกต์ใช้, การใช้ให้เป็นประโยชน์ (purpose, application, use)

อตฺถ + ปโยชน = อตฺถปโยชน > อรรถประโยชน์ แปลว่า “เป็นที่ต้องการและเป็นประโยชน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรรถประโยชน์ : (คำนาม) ประโยชน์ที่ต้องการ.”

…………..

อภิปราย :

อรรถประโยชน์” เป็นคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป นักภาษารุ่นเก่านิยมใช้ในการเขียนหนังสือรวมทั้งในการพูดที่เป็นทางการ

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายทำนองเดียวกัน คือ “หิตประโยชน์” แปลว่า ประโยชน์เกื้อกูล

คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ พจนานุกรมเรียกว่า “คำแบบ” หมายถึงคำที่เป็นแบบแผนของภาษา คือถ้าจะให้ถ้อยคำภาษาทั้งพูดและเขียนมีแบบแผนที่ดีงามหรือมีระดับ ก็ควรใช้ถ้อยคำที่เป็นแบบแผนเช่นนี้

แม้พจนานุกรมฯ จะไม่ได้บอกว่า “อรรถประโยชน์” เป็น “คำแบบ” แต่รูปคำและความหมายเป็นคำที่มีระดับ แต่นับวันจะถูกลืม

…………..

ดูก่อนภราดา!

โลกนี้หาความสมดุลหรือความลงตัวได้ยากยิ่ง

: บางสิ่งบางอย่างเป็นประโยชน์ แต่อาจไม่เป็นที่ต้องการ

: บางสิ่งบางอย่างเป็นที่ต้องการ แต่อาจไม่เป็นประโยชน์

9-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย