บาลีวันละคำ

วิมุตติสุข (บาลีวันละคำ 1,730)

วิมุตติสุข

อุปมาเหมือนช่วงเวลาแห่งการฉลองความสำเร็จ

อ่านว่า วิ-มุด-ติ-สุก

แยกศัพท์เป็น วิมุตติ + สุข

(๑) “วิมุตติ

บาลีเขียน “วิมุตฺติ” (มีจุดใต้ ตฺ) อ่านว่า วิ-มุด-ติ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ติ ปัจจัย, ลบ จฺ ที่สุดธาตุ (มุจฺ > มุ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย

: วิ + มุจฺ = วิมุจฺ > วิมุ + ตฺ + ติ = วิมุตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง” หมายถึง ความหลุดพ้น, ความปลดเปลื้อง, ความปลดปล่อย (release, deliverance, emancipation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิมุตติ : (คำนาม) ความหลุดพ้น; ชื่อหนึ่งของพระนิพพาน. (ป.; ส. วิมุกฺติ).”

(๒) “สุข

บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม. ง่าย) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: สุ + ขนฺ = สุขนฺ + กฺวิ = สุขนฺกฺวิ > สุขนฺ > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี

(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม. ง่าย) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ทฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, รัสสะ อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น (ขาทฺ > ขทฺ)

: สุ + ขาทฺ = สุขาทฺ + กฺวิ = สุขาทฺกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี

(3) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + ปัจจัย

: สุขฺ + = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลที่มีตนเกิดขึ้นให้สุขสบาย

(4) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม. ง่าย) + ขฺ (โอกาส)

: สุ + = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่มีการให้โอกาสทำได้ง่าย

สุข” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –

(1) ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย; อุดมคติ, ความสำเร็จ (wellbeing, happiness, ease; ideal, success)

(2) เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร (agreeable, pleasant, blest)

วิมุตฺติ + สุข = วิมุตฺติสุข > วิมุตติสุข แปลว่า “ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น” (bliss of Emancipation; bliss of freedom)

ขยายความ :

คำว่า “วิมุตติสุข” สำนวนศาสนามักพูดควบกับคำว่า “เสวย” เป็น “เสวยวิมุตติสุข” หมายถึง เมื่อทำกิจจนสำเร็จผลแล้วก็สงบนิ่งอยู่เพื่อรับรสของความสุขอันเกิดจากความสำเร็จนั้น

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “วิมุตติสุข” ไว้ดังนี้ –

วิมุตติสุข : สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์; พระพุทธเจ้าภายหลังตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ได้เสวยวิมุตติสุข 7 สัปดาห์ตามลำดับคือ

สัปดาห์ที่ 1 ประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท

สัปดาห์ที่ 2 เสด็จไปประทับยืนด้านอีสาน ทรงจ้องดูต้นมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตร ที่นั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ 3 ทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นระหว่างกลางแห่งพระมหาโพธิ์และอนิมิสเจดีย์ เสด็จจงกรมตลอด 7 วัน ที่นั้นเรียก รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ 4 ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ณ เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตในทิศพายัพแห่งต้นมหาโพธิ์ ที่นั้นเรียก รัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ 5 ประทับใต้ร่มไม้ไทร ชื่ออชปาลนิโครธ ทรงตอบปัญหาของพราหมณ์หุหุกชาติ แสดงสมณะและพราหมณ์ที่แท้ พร้อมทั้งธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่าธิดามาร 3 คนได้มาประโลมพระองค์ ณ ที่นี้

สัปดาห์ที่ 6 ประทับใต้ต้นไม้จิก ชื่อมุจจลินท์ มีฝนตก มุจจลินทนาคราชมาวงขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ ทรงเปล่งอุทานแสดงความสุขที่แท้ อันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น

สัปดาห์ที่ 7 ประทับใต้ต้นไม้เกดชื่อ ราชายตนะ พาณิช 2 คน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง สัตตุก้อน และได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึง 2 สรณะ เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่เจ็ดที่นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้ คือปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน แล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรม เป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ช่วงเวลาฉลองความสำเร็จ เป็นเพียงบำเหน็จชั่วคราว

: การลงมือทำประโยชน์อันยืนยาว เป็นบำเหน็จชั่วนิรันดร

28-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *