บาลีวันละคำ

กังขา (บาลีวันละคำ 963)

กังขา

อ่านว่า กัง-ขา

บาลีเขียนเป็น “กงฺขา

กงฺขา” รากศัพท์มาจาก กงฺข (ธาตุ = สงสัย) + ปัจจัย, อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: กงฺข + = กงฺข + อา = กงฺขา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สงสัย

กงฺขา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ความสงสัย, ความไม่แน่ใจ (doubt, uncertainty)

(2) มีความสงสัย, มีความข้องใจ (doubting, doubtful)

(3) ความคาดหวัง (expectation)

ในทางรูปศัพท์ “กงฺขา” บาลีตรงกับ “กางฺกฺษา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

กางฺกฺษา : (คำนาม) ความปรารถนา, ความลำเอียง, ความใคร่; wish, inclination, desire.”

ในภาษาไทย เรารู้จัก “กงฺขา-กังขา” ในความหมายว่า สงสัย ข้องใจ แต่เมื่อเทียบกับสันสกฤตจะเห็นได้ว่า “กังขา-กางฺกฺษา” ไม่ใช่สงสัยแบบไม่แน่ใจ ลังเล หรือเคลือบแคลงเฉยๆ แต่เป็นความสงสัยแบบใคร่รู้ คือมีความคาดหวัง แต่ไม่แน่ใจว่าจะสมหวังหรือไม่ ระคนอยู่ในเรื่องนั้นด้วย

โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษ expectation, wish, desire จะเห็นความหมายของ “กังขา” ในด้านที่เราไม่ได้นึกถึงและไม่ได้นำมาใช้

คำไทยสำนวนเก่านิยมพูดว่า “วิมัติกังขา” (วิ-มัด-ติ-กัง-ขา) เช่น ขออย่าได้มีวิมัติกังขาในเรื่องนี้เลย

วิมัติ” บาลีเป็น “วิมติ” (วิ-มะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้สำคัญไปโดยอาการต่างๆ” คือเห็น ได้ยิน หรือรู้เรื่องราวใดๆ ก็คิดสงสัยไปต่างๆ ไม่สามารถวินิจฉัยแน่นอนลงไปได้ว่าอะไรเป็นอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กังขา : (คำนาม) ความเคลือบแคลง, ความสงสัย. (ป.).

(2) วิมัติ : (คำนาม) ความเคลือบแคลง, ความสงสัย. (ป., ส. วิมติ).

ความมหัศจรรย์ของกังขา:

: เกิดขึ้นแก่คนฉลาด ยิ่งเพิ่มความฉลาด

: เกิดขึ้นแก่คนเขลา ก็ยิ่งเพิ่มความเขลา

#บาลีวันละคำ (963)

6-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *