บาลีวันละคำ

ดนตรีการ (บาลีวันละคำ 966)

ดนตรีการ

ไม่ใช่ ดนตรีกาล

อันเนื่องมาจากข้อความวรรคหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง เวนิสวาณิช ที่ฟังเสียงอ่านว่า –

“ชน ใด ไม่ มี ดน ตรี กาน”

-ดนตรีกาน สะกดอย่างไร “ดนตรีการ” หรือ “ดนตรีกาล” ?

——–

ดนตรีการ” ประกอบด้วย ดนตรี + การ

(๑) คำว่า “ดนตรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดนตรี : เสียงที่ประกอบกันเป็นทํานองเพลง, เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทําให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก หรือรื่นเริง เป็นต้น ได้ตามทํานองเพลง. (ส. ตนฺตฺรินฺ).”

“(ส. ตนฺตฺรินฺ)” หมายความว่า คำว่า “ดนตรี” สันสกฤตเป็น “ตนฺตฺรินฺ” (ตัน-ตฺริน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –

ตนฺตฺรินฺ : (คุณศัพท์) ‘ตันตริน,’ อันถักหรือทอแล้ว; อันมีด้ายหรือสาย; อันทำด้วยด้าย; spun or wove; having threads or wires; made of thread;- (คำนาม) ‘คายก, คาตฤ, วิทิตรกุศล, สังคีตัชญ์, สุสวราภิชญ์,’ นักดนตรี, ผู้ขับร้องคายศัพท์; a musician.”

ตนฺตฺรินฺ” บาลีเป็น “ตนฺติ” (ตัน-ติ) หมายถึง –

(1) คัมภีร์, ข้อความในพระไตรปิฎก (a sacred text; a passage in the Scriptures)

(2) แนว, เส้นสาย, สายตระกูล; แบบแผนที่มีมาแต่เดิม (line, lineage, custom, tradition)

(3) เชือกหรือสายพิณ (รวมทั้งสายของเครื่องดนตรีอื่นๆ) ฯลฯ; เส้นด้ายที่ทำจากเอ็น (the string or cord of a lute, string music etc.; thread made of tendon)

เฉพาะความหมายที่ 3 นี้ ฝรั่งแปล “ตนฺติ” ว่า the string or cord of a lute

ทำให้นึกถึงคำว่า “วงสตริง” “คอร์ดกีต้าร์” ที่คอดนตรีสมัยหนึ่งพูดกัน

เต่า ในบาลีสันสกฤต ไทยเราแปลงเป็น เด็ก เช่น ตล เป็น ดล, ตาวติงส เป็น ดาวดึงส์ ดังนั้น ตนฺ– จึง = ดัน แล้วก็เป็น ดน

ติ” เป็น “ตฺริ” แล้วก็เป็น “ตรี” ในภาษาไทย เช่น มนฺติ = มนตฺริ แล้วก็เป็น มนตรี

เพราะฉะนั้น ตนฺติ > ตนฺตฺริ > ดนตรี

ดนตรี” ในความหมายเดิมนั้นเป็นเครื่องสาย บรรเลงด้วยการดีด หรือสี กาลต่อมาจึงรวมไปถึงเครื่องบรรเลงอื่นๆ ด้วย

(๒) คำว่า “การ

การ” บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์คือ กรฺ ธาตุ ยืดเสียงเป็น การ แปลตามศัพท์ว่าว่า “ทำ” หมายถึง การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, การกระทำที่แสดงถึงความรู้สึกนึกคิดในทางใดทางหนึ่ง, ผู้ทำ, ผู้จัดการ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

(2) –การ ๓ : คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.

ดนตรี + การ = ดนตรีการ

คำว่า “ดนตรีการ” เป็นไปตามความหมายของ –การ ๓ ในข้อ (2)

ดนตรีการ” จึงหมายถึง งานเกี่ยวกับดนตรี, สิ่งหรือเรื่องที่ทำเกี่ยวกับดนตรี เช่น การบรรเลง การขับร้อง การสดับรับฟัง ความหมายโดยรวมก็คือ ความรู้สึกซาบซึ้ง ชื่นชม รื่นรมย์ใจเมื่อได้บรรเลง ขับร้อง หรือฟังดนตรี

คำว่า “ดนตรีการ” ยังไม่ได้เก็บไว้ใน พจน.54 แต่มีคำว่า “ดนตรีกรรม” พจน.54 บอกไว้ว่า –

ดนตรีกรรม : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และหมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว.”

ส่วนคำว่า “กาล” (บาลีอ่านว่า กา-ละ, ภาษาไทยอ่านว่า กาน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า กา-ละ-) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป

กาล” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน (time)

———–

“ชน ใด ไม่ มี ดน ตรี กาน”

ถ้าคำนี้เขียนเป็น “…ดนตรีกาล” (-กาล ล ลิง) ต้องแปลว่า “เวลาเพื่อดนตรี

“..ไม่มีดนตรีกาล” หมายถึงไม่มีเวลา ไม่ได้หาเวลา หรือไม่ได้แบ่งเวลาในชีวิตประจำวันที่จะบรรเลง หรือขับร้อง หรือฟังดนตรี ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับชอบหรือไม่ชอบ อาจชอบก็ได้ แต่ไม่มีเวลาให้

ต่างจาก “..ไม่มีดนตรีการ” (-การ ร เรือ) ซึ่งหมายถึง ไม่ชอบดนตรี ไม่ชอบฟังเพลง หรือไม่ชอบการร้องรำทำเพลง ไม่ยอมเสียเวลาให้กับเรื่องดนตรี แม้จะมีเวลาก็ไม่สนใจ พูดเป็นสำนวนว่า “ไม่มีดนตรีในหัวใจ

แล้วคำนี้เป็น “ดนตรีการ” หรือ “ดนตรีกาล” ?

เมื่อเป็นข้อความที่ยกมาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง เวนิสวาณิช ก็ต้องตัดสินด้วยตัวบทพระราชนิพนธ์ว่าทรงไว้อย่างไร จะเอาความหมายของคำที่แปลได้ความว่าอย่างไรมาตัดสินนั้นหาได้ไม่

ขณะนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่มีโอกาสตรวจสอบลายพระหัตถ์บทพระราชนิพนธ์ซึ่งจะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด แต่ได้พบในหนังสือบทพระราชนิพนธ์เรื่อง เวนิสวาณิช 2 ฉบับ คือ :

1 ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๔๕๙ ชื่อบทพระราชนิพนธ์สะกดว่า “เวนิสวานิช” (-วานิช น หนู)

2 ฉบับกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ ครั้งที่ ๒๙ พ.ศ.๒๕๑๓ ชื่อบทพระราชนิพนธ์สะกดว่า “เวนิสวาณิช” (-วาณิช ณ เณร)

ข้อความที่จะได้อ่านต่อไปนี้คัดมาจากฉบับพิมพ์ พ.ศ.2513 แต่เนื่องจากฉบับพิมพ์ พ.ศ.2459 ซึ่งเก่ากว่า มีคำที่สะกดแตกต่างจากฉบับพิมพ์ พ.ศ.2513 อยู่บางคำ ในที่นี้จึงได้ใส่ข้อความที่เป็นฉบับพิมพ์ พ.ศ.2459 ส่วนที่แตกต่างไว้ในวงเล็บเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการศึกษา

เครื่องหมายต่างๆ และวรรคตอนพิมพ์ตามต้นฉบับ เพียงแต่เว้นบรรทัดระหว่างบทเพื่อให้เห็นข้อความชัดเจนเป็นบทๆ ไป

…………

ว่าออร์เฟียสผู้ฉลาดอาจดีดพิณ

เรียกก้อนหิน, พฤกษา, วารีศรี;

เพราะสิ่งใดแม้ไม่มีชีวี,

หรือชั่วช้ากาลีแสนสามานย์,

(หรือชั่วช้ากาลีแสนสามาญ,)

ก็แผกผิดธรรมดาเวลาที่

ยินดนตรีบรรเลงเพลงสมาน.

ชนใดที่ไม่มีดนตรีการ

ในสันดาน, เป็นคนชอบกลนัก,

(ในสันดาน, เปนคนชอบกลนัก,)

อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ,

เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์

(เขานั้นเหมาะคิดขบถอัประลักษณ์)

หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก;

มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี,

และดวงใจย่อมดำสกปรก

(และดวงใจย่อมดำสกะปรก)

ราวนรก: ชนเช่นกล่าวมานี่

ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้.

เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ.

………..

ข้อสังเกตเพิ่มเติม :

(๑) แม้จะมีบางคำที่สะกดต่างกัน แต่คำที่เป็นปัญหาก็ชัดเจนแล้วว่าสะกดเหมือนกัน คือ “ดนตรีการ” (ร เรือ) ไม่ใช่ “ดนตรีกาล” (ล ลิง)

(๒) จากการตรวจดูตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่นำข้อความตอนนี้มาเผยแพร่ ปรากฏว่ามีทั้งที่สะกดว่า “ดนตรีการ” และ “ดนตรีกาล” ซึ่งทำให้น่าใคร่ครวญว่า ผู้นำข้อความมาเผยแพร่รับผิดชอบต่อการเผยแพร่ของตนมากน้อยแค่ไหนเพียงไรหรือไม่

(๓) นอกจากนี้ ปรากฏว่า ตัวข้อความที่นำมาเผยแพร่กันนั้นมักมีแต่ข้อความเกลี้ยงๆ เครื่องหมายต่างๆ ที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์หาได้พิมพ์ให้ครบถ้วนตรงตามต้นฉบับไม่ (โปรดดูรายละเอียดในภาพประกอบ) กรณีเช่นนี้แสดงถึงอะไรหรือบอกอะไรเราได้บ้าง ?

(๔) เรื่องนี้ได้ข้อเตือนสติว่า บรรดาข้อมูลทั้งปวงที่เผยแพร่กันทางสื่อออนไลน์นั้นจะไว้วางใจในความถูกต้องไม่ได้เป็นอันขาด

: ไม่มีเวลาให้ดนตรีก็ไม่ว่า

: แต่ขอให้มีเวลาให้แก่หัวใจ

————–

หมายเหตุ :

๑ ขอบพระคุณท่านอาจารย์บุญเลิศ เสนานนท์ แห่งหอสมุดแห่งชาติ ที่กรุณาค้นหนังสือเก่าและถ่ายภาพให้

๒ ขอบคุณญาติมิตรหลายท่านที่เคยส่งข้อความภาคภาษาอังกฤษมาให้ ถ้าไม่เป็นการลำบาก ขอแรงช่วยส่งมาไว้ที่นี่อีกสักครั้ง โดยเฉพาะข้อความที่ตรงกับบทพระราชนิพนธ์ที่คัดมาไว้ ณ ที่นี้ ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์แห่งองค์ความรู้ร่วมกัน – ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

#บาลีวันละคำ (966)

9-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *