บาลีวันละคำ

เปรียญธรรม [1] (บาลีวันละคำ 1,749)

เปรียญธรรม [1]

ทำอะไรกันอยู่

อ่านว่า ปะ-เรียน-ทำ

แยกศัพท์เป็น เปรียญ + ธรรม 

(๑) “เปรียญ

คำนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นภาษาอะไร มาจากคำอะไร มีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า “เปรียญ” น่าจะมีที่มาจาก 2 ทาง คือ –

(1) กลายรูปและเสียงมาจากคำว่า “ปริญญา

คือ อิ ที่ –ริ– เป็น เอีย เทียบกับคำว่า “วชิรอิ ที่ –ชิ– เป็น เอีย = วเชียร > วิเชียร

: ปริญญา > ปเรียญญา แล้วกร่อนเหลือเพียง ปเรียญ > เปรียญ

ปริญญา” บาลีเขียน “ปริญฺญา” (มีจุดใต้ เป็นตัวสะกด) แปลว่า ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความเข้าใจ, ความรู้รอบ (knowing, recognising, understanding)

(2) เลือนมาจากคำว่า “บาเรียน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) บา : (คำนาม) ครู, อาจารย์; ชายหนุ่ม

(2) บาเรียน : (คำนาม) ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ

: บาเรียน > บเรียน > ปเรียน > เปรียน > เปรียญ

บางท่านสันนิษฐานว่า “เปรียญ” มาจากคำว่า “ปราชญ์เรียน” ซึ่งมีปรากฏในจารึกสุโขทัย (อนุสรณ์ มีสุข 12 พฤษภาคม 2557)

อาจมีท่านผู้อื่นสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นได้อีกหลายทาง และคงไม่อาจตัดสินเป็นยุติได้ นอกจากรับฟังไว้ประดับความรู้กันต่อไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เปรียญ : (คำนาม) ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป”

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

เปรียญ + ธรรม = เปรียญธรรม

คำว่า “เปรียญธรรม” เป็นคำเรียกความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลี ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.-” (ป จุด ธ จุด) ตามด้วยตัวเลขชั้นเปรียญที่สอบได้ เวลาอ่าน ให้อ่านว่า “เปรียญธรรม — ประโยค” เช่น –

“ป.ธ.3” อ่านว่า เปรียญธรรม สาม ประโยค

“ป.ธ.6” อ่านว่า เปรียญธรรม หก ประโยค

“ป.ธ.9” อ่านว่า เปรียญธรรม เก้า ประโยค

…………..

อภิปราย :

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำแปลคำว่า “เปรียญธรรม” จึงขอแปลโดยอัตโนมัติดังนี้ –

แปลจากหลังไปหน้าว่า “ธรรมระดับเปรียญ” หมายถึง ภูมิรู้ภูมิธรรมของเปรียญ (เป็นคำเรียกภูมิรู้)

แปลจากหน้าไปหลังว่า “เปรียญผู้รู้ธรรม” (เป็นคำเรียกบุคคล)

คำว่า “เปรียญธรรม” เป็นคำประสมแบบไทย แต่รูปและเสียงคล้ายคำว่า “ปริญฺเญยฺยธมฺม” (ปะ-ริน-เยย-ยะ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมที่ควรกำหนดรู้” เป็นคำเรียก “ทุกขอริยสัจ” บอกให้รู้ว่าหน้าที่ที่จะต้องทำต่อ “ทุกขอริยสัจ” คือ กำหนดรู้ คือยอมรับว่ามันมีอยู่จริงพร้อมกับทำความรู้จักหรือทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งชัดเจน

………

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เรียนบาลี” นั้น อุดมคติหรือเป้าหมายดั้งเดิมของบูรพาจารย์คือ เรียนเอาบุญเรียนเอากุศล คือเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ แล้วเอาความรู้นั้นเป็นเสมือนกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก คือศึกษาเรียนรู้พระธรรมให้สามารถเข้าใจถูกต้องได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งปัญญาที่ผู้อื่นแปลไว้ซึ่งจะผิดถูกประการไรตนเองไม่อาจทราบได้ แล้วเอาความรู้นั้นเป็นพื้นฐานแห่งการปฏิบัติและเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไป

แต่ปัจจุบันนี้ เป้าหมายการเรียนบาลีเบี่ยงเบนไปมากจนน่าวิตก คือจากการเรียนเอาบุญกุศลกลายเป็นเรียนเพื่อให้สอบได้ จากการเรียนเอาความรู้ กลายเป็นการเรียนวิธีสอบ จากความรู้เป็นเป้าหมาย สอบได้เป็นผลพลอยได้ กลายเป็นสอบได้เป็นเป้าหมาย ความรู้เป็นเพียงผลพลอยได้

จึงปรากฏว่า ผู้ที่สอบได้ทุกวันนี้ได้แต่นำเอาผลการสอบได้ไปชื่นชมยินดีกัน แต่ไม่ได้นำเอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ให้แตกฉานต่อไปอีก

อุปมาเหมือนได้กุญแจมาแล้ว แต่ไม่ได้เอาไปไขขุมทรัพย์ฉะนั้น

…………..

ตํ กึ มญฺญถ ภาตโร!

: มีกุญแจแต่ไม่ใช้ไขขุมทรัพย์

: นี่อาภัพหรือเป็นบ้าช่างน่าหวัว

: เก็บแก้วเก้ามิดชิดไม่ติดตัว

: เอาตะกั่วคล้องคอเที่ยวขอทาน

19-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย