บาลีวันละคำ

สายสิญจน์ [2] (บาลีวันละคำ 2,027)

สายสิญจน์ [2]

อ่านว่า สาย-สิน

ประกอบด้วยคำว่า สาย + สิญจน์

(๑) “สาย” เป็นคำไทย

ตามความหมายในที่นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาย ๒ : (คำนาม) สิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเป็นแนวยาว เช่น สายสร้อย สายไฟฟ้า สายรุ้ง สายนาฬิกา สายเข็มขัด, ทาง, เส้นทาง, เช่น รถไฟสายเหนือ รถไฟสายใต้, โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สายการบิน สายการเดินเรือ สายงาน; ญาติที่สืบมาจากต้นวงศ์หรือต้นสกุลเดียวกัน แล้วแยกเป็นสกุลย่อยออกไป; ผู้เข้าไปสืบความลับหรือความเคลื่อนไหวเป็นต้นของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ระวังคนใช้เป็นสายให้โจร; ลักษณนามเรียกสิ่งที่เป็นแนวหรือเส้นยาวว่า สาย เช่น สายสะพาย ๒ สาย ทาง ๓ สาย.”

(๒) “สิญจน์” บาลีเขียนเป็น “สิญฺจน” อ่านว่า สิน-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก สิจฺ (ธาตุ = ไหล, รด, ราด; เท, วิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น ญฺ (สิจฺ > สึจฺ > สิญฺจ)

: สิจฺ > สึจฺ > สิญฺจ + ยุ > อน = สิญฺจน แปลตามศัพท์ว่า “การรดน้ำ” “การหลั่งน้ำ” “การเทน้ำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิญจ-, สิญจน์ : (คำกริยา) รดนํ้า; รดนํ้ามนต์, สรงมุรธาภิเษก. (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “สิญฺจน” เป็นคำนาม (อาการนามหรือภาวนาม) แต่ในภาษาไทย “สิญจ-, สิญจน์” ใช้เป็นคำกริยา

สาย + สิญจน์ = สายสิญจน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สายสิญจน์ : (คำนาม) ด้ายดิบสีขาวที่นำมาจับทบเป็น ๓ เส้น หรือ ๙ เส้น ใช้ในพิธีทางศาสนา เช่นสำหรับพระถือในเวลาสวดมนต์ หรือพราหมณ์ใช้ในพระราชพิธีบางอย่าง.”

ดูเพิ่มเติม: “สายสิญจน์” บาลีวันละคำ (337) 14-4-56

…………..

อภิปราย :

สายสิญจน์” มีกำเนิดมาอย่างไร?

สิญจน์” แปลว่า รดน้ำ, หลั่งน้ำ กิริยาหลั่งน้ำตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปใช้เมื่อทำพิธีสำคัญบางอย่างที่เรียกว่า “อภิเษก” อันเป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกับ “สิญจน” นั่นเอง เช่น “มุรธาภิเษก” คือรดน้ำในพิธีสถาปนาพระเจ้าแผ่นดิน

วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่นิยมใช้วิธีหลั่งน้ำคือ เมื่อมอบสิ่งที่ไม่อาจหยิบยกยื่นส่งให้เพราะของนั้นใหญ่โตหรือหนักเกินจะยกส่งให้ผู้รับได้ เช่น พระเวสสันดรพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่ทูตจากเมืองกาลิงคะ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำลงในมือทูต หรือเมื่อพระราชทานพระนางมัทรีให้แก่พราหมณ์แปลง (คือพระอินทร์) ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำลงในมือพราหมณ์เป็นกิริยายกให้เป็นต้น

ครั้นมาถึงเมืองไทย มีกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของสิ่งที่จะยกให้มีหลายคน ไม่สามารถจับเต้าหลั่งน้ำได้หมดทุกคน จึงคิดวิธีเอาเชือกผูกเต้ากรวดน้ำแล้วให้คนอื่นๆ จับเชือกแทน เป็นกิริยาว่าได้ร่วมหลั่งน้ำด้วย จึงเกิดคำว่า “สายสิญจน์” อันแปลตามศัพท์ว่า “เส้นเชือกเพื่อการหลั่งน้ำ

ครั้นต่อมาการปฏิบัติก็เคลื่อนไปอีก คือใช้วิธีเอาสายสิญจน์ผูกเข้ากับสิ่งที่จะยกให้แล้วช่วยกันจับสายสิญจน์ประเคนหรือมอบให้แก่ผู้รับเป็นกิริยายกให้โดยไม่มีการหลั่งน้ำ เสมือนว่าผู้จับสายสิญจน์ได้ร่วมถวายหรือยกให้ด้วย

ต่อมาจึงเกิดเป็นหลักการว่า เมื่อมากคนด้วยกันจะหยิบจับสิ่งใดๆ ด้วยมือโดยตรงทุกคนพร้อมกันไม่ได้ ก็ใช้วิธีโยงสายสิญจน์เข้ากับสิ่งนั้นแล้วให้จับสายสิญจน์แทน ดังเช่นเวลาพระสวดมนต์และมีการทำน้ำมนต์ ตามหลักจริงๆ แล้วพระทุกรูปจะต้องจับหม้อน้ำมนต์ แต่ไม่สามารถยื่นมือมาจับได้หมดทุกรูป ก็ใช้วิธีโยงสายสิญจน์เข้ากับหม้อน้ำมนต์แล้วให้พระจับสายสิญจน์แทน เป็นกิริยาว่าได้จับหม้อน้ำมนต์ด้วย

ตกมาถึงตอนนี้ เมื่อเอาสายชนิดนั้นไปใช้ในพิธีไรๆ ก็เรียกกันติดปากว่า “สายสิญจน์” แม้จะไม่มีการหลั่งน้ำในพิธีนั้นๆ ตามความหมายของคำว่า “สิญจน์” ก็ตาม

หนักเข้า “สายสิญจน์” เลยกลายเป็นเครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อต้องการให้ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เข้าสู่ตัวใคร ก็ให้ผู้นั้นจับสายสิญจน์ในพิธีการนั้นๆ

ทั้งความหมายตามภาษาและเจตนาในการใช้สายสิญจน์ก็เบี่ยงเบนไปจนไม่เหลือร่องรอยเดิม

และจนไม่แน่ใจว่าเป็นการกระทำที่ฉลาดขึ้นหรือฉลาดลง?

…………..

ดูก่อนภราดา!

หมั่นสั่งสมคุณธรรมไว้ประจำจิต

อย่าเพียงพึ่งความศักดิ์สิทธิ์จากสายสิญจน์

ขอพรจากการทำความดีในชีวิน

อย่าถวิลเพียงถ้อยคำพิเศษตามเทศกาล

—————

(สนองความปรารถนาดีของ Zamar Sib Oon)

#บาลีวันละคำ (2,027)

30-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย