บาลีวันละคำ

อนฺตคุณํ (บาลีวันละคำ 2,033)

อนฺตคุณํ = ไส้น้อย

ลำดับ 17 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า อัน-ตะ-คุ-นัง

ประกอบด้วย อนฺต + คุณํ

(๑) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + ปัจจัย, ซ้อน นฺ ในตัวธาตุเอง (อติ > อนฺติ), ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ อติ + , ติ ที่ อติ เป็นสระหน้า “ลบสระหน้า” คือ อติ > อต

: อติ > อนติ + = อนฺติ > อนต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่พันกัน” (2) “อวัยวะอันไส้น้อยผูกไว้

อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง ลำไส้ใหญ่, เครื่องใน, ไส้พุง (the lower intestine, bowels, mesentery)

(๒) “คุณํ

บาลีอ่านว่า คุ-นัง รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + ปัจจัย

: คุณฺ + = คุณ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี

(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย

(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

คุณ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

ในที่นี้ “คุณ” ใช้ตามความหมายในข้อ (1)

อนฺต + คุณ = อนฺตคุณ แปลตามศัพท์ว่า “สายของลำไส้” และแปลเอาความว่า ไส้น้อย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺตคุณ” ว่า the intestinal tract, the bowels (ตอนที่เป็นลำไส้, ไส้พุงในท้อง)

โปรดสังเกตว่า “อนฺต” คำเดียว พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปลไว้คำหนึ่งว่า bowels (ดูข้างต้น) แต่ “อนฺตคุณ” ก็ยังแปลว่า the bowels อีก ดูเป็นว่า “อนฺต” กับ “อนฺตคุณ” ในความเข้าใจของผู้ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษบางทีก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน

อนฺตคุณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อนฺตคุณํ

อนฺตคุณํ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อันตคุณ” (อัน-ตะ-คุน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อันตคุณ : (คำนาม) ลําไส้เล็ก, ราชาศัพท์ว่า พระอันตคุณ. (ป.)”

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “อนฺตคุณํ” ไว้ดังนี้ –

อนฺตคุณนฺติ  อนฺตโภคฏฺฐาเนสุ  พนฺธนํ.

คำว่า อนฺตคุณํ คือไส้อันเป็นสายพันอยู่ตามขนดไส้ใหญ่

ตํ  วณฺณโต  เสตํ  ทกสีตลิกมูลวณฺณํ.

อันตคุณนั้นสีขาวดังสีรากจงกลนี

สณฺฐานโต  ทกสีตลิกมูลสณฺฐานเมว.

รูปลักษณะก็คลายรากจงกลนี

โอกาสโต  กุทฺทาลผรสุกมฺมาทีนิ  กโรนฺตานํ  ยนฺตากฑฺฒนกาเล  ยนฺตสุตฺตมิว  ยนฺตผลกานิ  อนฺตโภเค  เอกโต  อคฺคฬนฺเต  อาพนฺธิตฺวา  ปาทปุญฺฉนรชฺชุมณฺฑลกสฺส  อนฺตรา  สํสิพฺพิตฺวา  ฐิตรชฺชุกา  วิย  เอกวีสติยา  อนตโภคานํ  อนฺตเร  ฐิตํ.

ไส้น้อยที่อยู่ภายในร่างกายคนเรานั้นยึดขนดไส้ใหญ่ให้เป็นมัดอยู่ด้วยกัน เหมือนเครื่องกลของช่างไม้โบราณที่ใช้ขุดหรือเจาะเนื้อไม้เป็นต้นจะมีสายยึดตัวเครื่องไว้กับแป้นยนต์ (ตัวเครื่องเหมือนไส้ใหญ่ สายยึดเหมือนไส้น้อย) ไส้น้อยนี้จะอยู่ในระหว่างแห่งขนดไส้ใหญ่ 21 ทบ เหมือนเชือกเส้นเล็กๆ ที่เย็บร้อยไปตามหว่างขดเชือกที่เอามาทำเป็นที่เช็ดเท้าฉะนั้น

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 40-41)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “อนฺตคุณํ” ไว้ดังนี้ –

๏ อันตะคุณังไส้น้อย….ดุจดังสายสร้อย…..เข้าร้อยไส้ใหญ่

อาหารแหลกย่อย……..ค่อยถอยลงไป……ไส้น้อยไส้ใหญ่

น่าเกลียดนักหนา๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าทำเรื่องสกปรกหมกไว้ในหัวใจ

: ถึงไม่มีคนสาวไส้ก็เน่าในอยู่แล้วทุกวัน

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,033)

5-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย