บาลีวันละคำ

ผู้ดีแปดสาแหรก (บาลีวันละคำ 1,880)

ผู้ดีแปดสาแหรก

นับอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ผู้ดี : (คำนาม) คนที่เกิดในตระกูลดี, คนที่มีมารยาทดีงาม.

(2) แปดสาแหรก : (คำนาม) คำเรียกต้นวงศ์สกุล คือ บิดามารดาของปู่และย่า ๔ ของตาและยาย ๔ รวมเป็น ๘ ที่เป็นผู้ดีทั้งฝ่ายบิดาและมารดา เรียกว่า ผู้ดีแปดสาแหรก (เทียบสาแหรกที่มีข้างละ ๔ ขา ๒ ข้างเป็น ๘ ขา). (ดู ผู้ดีแปดสาแหรก ที่ ผู้ ประกอบ).

ที่คำว่า “ผู้ดีแปดสาแหรก” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ผู้ดีแปดสาแหรก : (คำนาม) ผู้ดีที่สืบทอดกันลงมาตั้งแต่ต้นวงศ์สกุลคือบิดามารดาของปู่และย่า ๔ บิดามารดาของตาและยาย ๔ รวมเป็น ๘; โดยปริยายหมายถึงคนที่ทํากรีดกรายเอาอย่างผู้ดี. (ดู แปดสาแหรก ประกอบ).”

สรุปตามคำอธิบายของพจนานุกรมฯ คือ บุคคลที่จะนับว่าเป็นผู้ดีได้ ต้องดูคนที่เป็นต้นวงศ์สกุล 8 คน ดังนี้ –

1. พ่อของปู่ เป็นผู้ดี

2. แม่ของปู่ เป็นผู้ดี

3. พ่อของย่า เป็นผู้ดี

4. แม่ของย่า เป็นผู้ดี

5. พ่อของตา เป็นผู้ดี

6. แม่ของตา เป็นผู้ดี

7. พ่อของยาย เป็นผู้ดี

8 แม่ของยาย เป็นผู้ดี

ถ้าบุคคลทั้ง 8 นี้เป็นผู้ดี ก็เท่ากับปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ของผู้นั้นเป็นผู้ดีด้วย และตัว “ลูก” ก็ย่อมจะเป็นผู้ดีไปด้วยโดยอัตโนมัติ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะนับว่าใครเป็นผู้ดี ไม่ต้องดูที่พ่อแม่ ปู่ย่า และตายายของผู้นั้น แต่ให้ข้ามไปดูที่บุคคลทั้ง 8 ของผู้นั้นเลยทีเดียว ถ้าบุคคลทั้ง 8 ของเขาเป็นผู้ดี ปู่ย่า ตายาย และพ่อแม่ของเขาย่อมเป็นผู้ดี ดังนั้นตัวเขาเองก็ย่อมเป็นผู้ดีไปด้วย

นี่คือวิธีนับหรือที่มาของคำว่า “ผู้ดีแปดสาแหรก” (เทียบสาแหรกที่มีข้างละ 4 ขา 2 ข้างเป็น 8 ขา = แปดสาแหรก)

…………

ในคัมภีร์บาลีก็มีคำที่แสดงถึงค่านิยมความเป็นผู้ดีแบบเดียวกันนี้ ขอยกมาแสดงดังนี้ –

อุภโต  สุชาโต  โหติ  มาติโต  จ  ปิติโต  จ  สํสุทฺธคหณิโก  ยาว  สตฺตมา  ปิตามหยุคา  อกฺขิตฺโต  อนุปกุฏฺโฐ  ชาติวาเทน.

เป็นอุภโตสุชาตเกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์ที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอดเจ็ดชั่วคน ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยการกล่าวอ้างถึงชาติ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 735 เป็นต้น

คำว่า “เจ็ดชั่วคน” ในที่นี้บาลีใช้คำว่า “สตฺตมปิตามหยุค” (สัด-ตะ-มะ-ปิ-ตา-มะ-หะ-ยุ-คะ)

สตฺตม = ลำดับที่เจ็ด

ปิตามห = ปู่

ยุค = ชั่วคน

ถ้า “เจ็ดชั่วคน” หมายความว่า นับฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดาขึ้นไปจนถึงรุ่นปู่ได้ 7 คน วิธีนับก็คือ –

1. บิดาของบิดา (ปู่)

2. มารดาของบิดา (ย่า)

3. บิดาของมารดา (ตา)

4. มารดาของมารดา (ยาย)

5. บิดา

6. มารดา

7. ตัวเอง

แต่ถ้า “เจ็ดชั่วคน” หมายความว่า นับเฉพาะบิดามารดาของปู่ย่าตายายเท่านั้น ก็จะตรงกับวิธีนับ “ผู้ดีแปดสาแหรก” ของไทย แต่จำนวนคนจะเป็น 8 ไม่ใช่ 7 เพราะฉะนั้น นับตามวิธีข้างต้นจึงน่าจะถูกต้องแล้ว

ผู้ที่เกิดมาบริสุทธิ์เจ็ดชั่วคนเช่นนี้ เรียกว่า “อุภโตสุชาต” (เรียกเต็มว่า “อุภโตสุชาตสํสุทฺธคหณิก”) แปลว่า ผู้เกิดมาดีทั้งสองฝ่าย ตรงกับ “ผู้ดีแปดสาแหรก” ของไทย

ดูเพิ่มเติม: “อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี” บาลีวันละคำ (987) 30-1-58

…………..

ในแง่คุณธรรมหรือสมบัติของผู้ดี พระพุทธศาสนามีคำสอนชุดหนึ่ง เรียกว่า “สัปปุริสธรรม” มี 7 ประการ

ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [287] ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ ดังนี้ –

…………..

สัปปุริสธรรม 7 : (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี — Sappurisa-dhamma: qualities of a good man; virtues of a gentleman)

1. ธัมมัญญุตา (ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ เป็นต้น — Dhammaññutā: knowing the law; knowing the cause)

2. อัตถัญญุตา (ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น — Atthaññutā: knowing the meaning; knowing the purpose; knowing the consequence)

3. อัตตัญญุตา (ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป — Attaññutā: knowing oneself)

4. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น — Mattaññutā: moderation; knowing how to be temperate; sense of proportion)

5. กาลัญญุตา (ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น — Kālaññutā: knowing the proper time; knowing how to choose and keep time)

6. ปริสัญญุตา (ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น — Parisaññutā: knowing the assembly; knowing the society)

7. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น — Puggalaññutā: knowing the individual; knowing the different individuals)

ดูเพิ่มเติม: ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฏกเล่ม 11 ข้อ 331; 439; อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 65

…………..

ดูก่อนภราดา!

จะเป็นผู้ดีแบบไหนดี?

: ผู้ดีไทย ใช้สาแหรก

: ผู้ดีแขก ใช้สัปปุริสธรรม

—————–

(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Bm. Chaiwut Pochanukul)

2-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย