บาลีวันละคำ

สหนันที สหโสกี (บาลีวันละคำ 1,898)

สหนันที สหโสกี

เขาฮาก็ฮาด้วย

เขาโฮก็โฮด้วย

อ่านว่า สะ-หะ-นัน-ที สะ-หะ-โส-กี

ประกอบด้วย สห + นันที สห + โสกี

(๑) “สห” (สะ-หะ)

เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)

สห” ในบาลีมีความหมายเพียงแค่ พร้อมกัน ร่วมกัน เช่น ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” (United) เสมอไป

(๒) “นันที

บาลีขียน “นนฺที” รูปคำเดิมคือ นนฺท + ณี ปัจจัย

(ก) “นนฺท” (นัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก นนฺทฺ (ธาตุ = ยินดี, ร่าเริง) + ปัจจัย

: นนฺทฺ + = นนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ร่าเริง” หมายถึง ความยินดี, ความเพลิดเพลิน, ความสุขเกษม, ความปราโมทย์ (joy, pleasure, bliss, delight)

(ข) นนฺท + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี)

: นนฺท + ณี > อี : นนฺท + อี = นนฺที แปลว่า มีความร่าเริงยินดี (joyful)

(๓) “โสกี

รูปคำเดิมคือ โสก + ณี ปัจจัย

(ก) “โสก” (โส-กะ) รากศัพท์มาจาก สุจฺ (ธาตุ = โศกเศร้า) + ปัจจัย, ลบ , แปลง อุ ที่ สุ-(จฺ) เป็น โอ (สุจฺ > โสจ), แปลง เป็น

: สุจฺ + = สุจณ > สุจ > โสจ > โสก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความโศกเศร้า” หมายถึง ความเศร้า, ความโศก, ความทุกข์ใจ (grief, sorrow, mourning)

(ข) โสก + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี)

: โสก + ณี > อี : โสก + อี = โสกี แปลว่า มีความเศร้าโศก (sorrowful)

การประสมคำ :

สห + นนฺที = สหนนฺที แปลว่า มีความเพลิดเพลินยินดีไปด้วยกัน (rejoicing with)

สห + โสกี = สหโสกี แปลว่า มีความเศร้าโศกไปด้วยกัน (sorrowing with)

…………..

ที่มาของศัพท์ :

ในคัมภีร์สังยุตนิกาย ขันธวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 17 มีพระสูตรชื่อ “หลิททิกานิสูตร” เป็นคำที่พระมหากัจจานเถระแสดงธรรมแก่หลิททิกานิคฤหบดี ชาวกุรรฆรนคร แคว้นอวันตี ถึงลักษณะของนักบวชที่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ความตอนหนึ่งว่า –

…………

ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร ?

อิธ  คหปติ  เอกจฺโจ  คิหีหิ  สํสฏฺโฐ  วิหรติ  สหนนฺที  สหโสกี …

ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์อยู่ คือเป็นผู้พลอยชื่นชมกับเขา พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็สุขด้วย มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างนี้แล.

ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร ?

อิธ  คหปติ  ภิกฺขุ  คิหีหิ  อสํสฏฺโฐ  วิหรติ  น  สหนนฺที  น  สหโสกี …

ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ คือไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้นก็ไม่ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง ดูก่อนคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล.

…………

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ที่วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เชิญสุพรรณบัฏและเครื่องประกอบสมณศักดิ์ไปถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559

ในการนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวสัมโมทนียกถาเรื่อง บทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่มีต่อสังคม อ้างถึงคำในพระสูตรนี้ คือ “สหนันที สหโสกี

ท่านแปลเป็นไทยว่า ชาวบ้านเขาเฮก็เฮด้วย เขาฮาก็ฮาด้วย (สหนันที) เขาโฮก็โฮด้วย (สหโสกี)

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าเป็นคำที่น่าสนใจ จึงนำมาเสนอไว้เป็นบาลีวันละคำ

…………

ฟังคำบรรยายได้ที่นี่

…………..

ดูก่อนภราดา!

ธรรมวิธีแห่งสงฆ์ไทย

: เมื่อเขาฮา ก็สวดชยันโต

: เมื่อเขาโฮ ก็สวดกุสลา ธัมมา

20-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย