บาลีวันละคำ

ปิตุลานี – มาตุลานี (บาลีวันละคำ 2,068)

ปิตุลานีมาตุลานี

อ่านว่า ปิ-ตุ-ลา-นี มา-ตุ-ลา-นี

(๑) “ปิตุลานี

รากศัพท์มาจาก ปิตุล + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “ปิตุล” รากศัพท์มาจาก ปิตุ (บิดา, พ่อ) + อุล ปัจจัย

: ปิตุ + อุล = ปิตุล (ปิตุโน ภาตา ปิตุโล) แปลตามศัพท์ว่า “พี่ชายของพ่อ” หมายถึง ลุง หรือ “น้องชายของพ่อ” หมายถึง อา

(ข) ปิตุล + อินี ปัจจัย ใช้สูตร “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือลบ อิ ที่ อินี (อินี > นี) และทีฆะ อะ ที่ (ปิตุ)- เป็น อา (ปิตุล > ปิตุลา)

: ปิตุล + อินี = ปิตุลินี > ปิตุลนี > ปิตุลานี (ปิตุลสฺส ปชาปติ ชายา ปิตุลานี) แปลตามศัพท์ว่า “ภรรยาของลุง” หมายถึง ป้าสะใภ้ หรือ “ภรรยาของอา” หมายถึง อาสะใภ้

(๒) “มาตุลานี

รากศัพท์มาจาก มาตุล + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “มาตุล” รากศัพท์มาจาก มาตุ (มารดา, แม่) + อุล ปัจจัย

: มาตุ + อุล = มาตุล (มาตุยา ภาตา มาตุโล) แปลตามศัพท์ว่า “พี่ชายของแม่” หมายถึง ลุง หรือ “น้องชายของแม่” หมายถึง น้า

(ข) มาตุล + อินี ปัจจัย ใช้สูตร “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือลบ อิ ที่ อินี (อินี > นี) และทีฆะ อะ ที่ (มาตุ)- เป็น อา (มาตุล > มาตุลา)

: มาตุล + อินี = มาตุลินี > มาตุลนี > มาตุลานี (มาตุลสฺส ปชาปติ ชายา มาตุลานี) แปลตามศัพท์ว่า “ภรรยาของลุง” หมายถึง ป้าสะใภ้ หรือ “ภรรยาของน้าชาย” หมายถึง น้าสะใภ้

อภิปราย :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “ปิตุลานี” ไว้ บอกไว้ว่า –

ปิตุลานี : (คำนาม) อา (ผู้หญิง), ป้า (ญาติฝ่ายพ่อ). (ป.).”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ปิตุลานี” ไว้ (ตัดคำนี้ออกไป)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “มาตุลานี” และฉบับ พ.ศ.2554 ก็เก็บคำว่า “มาตุลานี” ไว้ด้วย โดยคงความหมายไว้ตามฉบับ พ.ศ.2542 คือบอกว่า –

มาตุลานี : (คำนาม) ป้าสะใภ้, น้าสะใภ้. (ป., ส.).”

เป็นอันว่าคำว่า “ปิตุลานี” เคยมีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

คำถามข้อที่ 1 คือ ทำไมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จึงตัดคำนี้ออกไป?

ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ก็คือคณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ ของราชบัณฑิตยสภา

อย่างไรก็ตาม คำนิยามความหมายในพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 ที่ว่า “ปิตุลานี” คือ “อา (ผู้หญิง), ป้า (ญาติฝ่ายพ่อ)” นั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าน่าจะคลาดเคลื่อน

ถ้ายึดความหมายของคำว่า “มาตุลานี” (ซึ่งพจนานุกรมฯ ยังคงเก็บไว้) เป็นแนวเทียบ :

มาตุลานี = ป้าสะใภ้, น้าสะใภ้ หมายถึง สะใภ้ข้างแม่ เพราะศัพท์ว่า “มาตุ-” บ่งบังคับอยู่

ดังนั้น :

ปิตุลานี = ป้าสะใภ้, อาสะใภ้ หมายถึง สะใภ้ข้างพ่อ เพราะศัพท์ว่า “ปิตุ-” บ่งบังคับอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองค้นดูศัพท์ในคัมภีร์ พบว่า ศัพท์ว่า “มาตุลานี” มีใช้ในคัมภีร์ทั่วไป แต่ไม่พบศัพท์ว่า “ปิตุลานี” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก

อนึ่ง หนังสือ “ราชาศัพท์” สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 4 พุทธศักราช 2555 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 หน้า 38 แสดงรายการคำสำหรับเรียกพระญาติวงศ์ มีคำว่า “พระมาตุลานี” แต่ก็ไม่มีคำว่า “พระปิตุลานี” เช่นกัน

คำถามข้อที่ 2 คือ ถ้าสะใภ้ข้างแม่ใช้ศัพท์ว่า “มาตุลานี” แต่สะใภ้ข้างพ่อไม่ใช้ศัพท์ว่า “ปิตุลานี” แล้วจะใช้ศัพท์ว่าอะไร?

คำศัพท์ที่ใช้เรียกญาติวงศ์พงศาในบาลีเป็นเรื่องที่น่าสนใจ สมควรแก่การที่จะศึกษา ค้นคว้า รวบรวมไว้เป็นพิเศษ

คำถามข้อที่ 3 คือ บรรดาญาติพี่น้องนักบาลีในเมืองไทยที่มีอยู่เป็นอเนกอนันต์และเกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกปีนั้น จะมีแต่ผู้เขียนบาลีวันละคำคนเดียวเท่านั้นหรือที่มีน้ำใจใฝ่คิดใฝ่ทำเรื่องเช่นนี้

ถ้ากระนั้น พุทธภาษิตที่ว่า “สาธุ สมฺพหุลา ญาตี” (รุกขธัมมชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 74) จะมีความหมายว่ากระไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ญาติมากมี ช่วยให้ทำความดีได้เยอะ

: มีญาติเลอะเทอะ ช่วยทำเรื่องเลอะให้ทั้งปี

————-

(ตามคำเปิดประเด็นของ Suttipong Phuensaen)

#บาลีวันละคำ (2,068)

9-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย