บาลีวันละคำ

ธาตุขันธ์ (บาลีวันละคำ 1,911)

ธาตุขันธ์

ไม่รู้ว่าใครเป็นทาสใคร

อ่านกันว่า ทาด-ขัน

ประกอบด้วยคำว่า ธาตุ + ขันธ์

(๑) “ธาตุ

บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ธรฺ > ธาร)

: ธา + ตุ = ธาตุ

: ธรฺ > + ตุ = ธตุ > ธาตุ

ธาตุ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(๑) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ

(๒) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ

(๓) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้

(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)

(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)

(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)

(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)

(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก.

(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.

(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.

(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว.

(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจํานวนเดียวกันในนิวเคลียส.

(6) รากศัพท์ของคําบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.

(๒) “ขันธ์

บาลีเป็น “ขนฺธ” (ขัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > )

: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้

(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ

: ขาทฺ > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ

(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ

: ขชฺชฺ > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน

(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ปัจจัย

: ขนฺ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)

(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)

(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)

(4) ลำต้น (the trunk)

(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)

(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)

ธาตุ + ขันธ์ = ธาตุขันธ์ แปลว่า “ธาตุและขันธ์” ก็ได้ “ธาตุคือขันธ์” ก็ได้ “ขันธ์คือธาตุ” ก็ได้

ธาตุขันธ์” เป็นการเอาคำ 2 คำ คือ “ธาตุ” กับ “ขันธ์” มาพูดรวมกันแบบคำไทย และให้ความหมายตามความเข้าใจในภาษาไทย คือหมายถึงร่างกาย

ธาตุ” และ “ขนฺธ” ในบาลีไม่ได้หมายถึง “ร่างกาย” โดยตรง

คำที่หมายถึง “ร่างกาย” ภาษาบาลีมีหลายคำ เช่น –

กาย (กา-ยะ)

เทห (เท-หะ)

วปุ (วะ-ปุ)

อตฺตภาว (อัด-ตะ-พา-วะ)

สรีร (สะ-รี-ระ)

คตฺต (คัด-ตะ)

กเฬพร (กะ-เล-พะ-ระ)

ตนุ (ตะ-นุ)

คำที่นิยมใช้เป็นสามัญคือ “อตฺตภาว” และ “สรีร

…………..

อภิปราย :

คำว่า “ธาตุขันธ์” มักใช้พูดกันในหมู่พระสงฆ์สายปฏิบัติหรือผู้หนักในธรรม มีนัยมุ่งถึงการพิจารณาความเป็นจริงของชีวิต ขยายความว่า ร่างกายประกอบด้วยขันธ์ 5 และส่วนที่จับต้องมองเห็นได้ถนัดที่สุดคือธาตุทั้ง 4 เมื่อชีวิตยังมีอยู่ก็จำต้องประคับประคองดูแลร่างกายไป หรือจะว่าจำต้องประคับประคองดูแลร่างกายเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปก็ได้

ในทางธรรม ท่านว่าขันธ์ 5 เป็นมารชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ขันธมาร” คือ ขันธ์ 5 เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น ล้วนรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนาอย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง (คำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

ตรงที่ว่า “เป็นภาระในการบริหาร” ให้ภาพเสมือนหนึ่งว่าเราแต่ละคนล้วนเป็นทาสของธาตุขันธ์ ต้องรับใช้ธาตุขันธ์ไปจนกว่าจะตาย

แต่คนฉลาดสามารถใช้ธาตุขันธ์เป็นอุปกรณ์นำทางไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ธาตุขันธ์อยู่ได้ไม่เกินร้อยปี

: คุณความดีอยู่ไปชั่วนิรันดร

2-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย