บาลีวันละคำ

สิกขัง ปัจจักขามิ (บาลีวันละคำ 1,930)

สิกขัง ปัจจักขามิ

โบราณเรียกว่า “ประจุขาด”

(๑) “สิกขัง

เขียนแบบบาลีเป็น “สิกฺขํ” รูปคำเดิมคือ “สิกฺขา” (สิก-ขา) รากศัพท์มาจาก สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + ปัจจัย + อา (ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์)

: สิกฺขฺ + = สิกฺข + อา = สิกฺขา

สิกฺขา” แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา” หมายถึง การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย (study, training, discipline)

สำหรับบรรพชิต “สิกฺขา” หมายถึงระบบวิถีชีวิตทั้งชีวิต เช่น คฤหัสถ์บวชเป็นภิกษุ นั่นคือการเข้าสู่ระบบสิกขา คือใช้ชีวิตเยี่ยงบรรพชิตตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

สิกฺขา” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สิกฺขํ

(๒) “ปัจจักขามิ

เขียนแบบบาลีเป็น “ปจฺจกฺขามิ” เป็นคำกริยา (กิริยาขยาต) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาต อุตตมบุรุษ เอกพจน์, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ แล้วซ้อน กฺ

: ปฏิ > ปจฺจ + กฺ + ขา = ปจฺจกฺขา + = ปจฺจกฺขา + มิ = ปจฺจกฺขามิ แปลว่า พูดเป็นปฏิปักษ์หรือขัดขวาง, คือ ไม่ยอมรับ, ปฏิเสธ, บอกปัด, ยกเลิก, บอกคืน, เลิกละ (to speak against, i. e. to reject, refuse, disavow, abandon, give up)

ในที่นี้ –มิ วิภัตติอาขยาต เป็นอุตตมบุรุษ (ในภาษาบาลีหมายถึงตัวผู้พูด) เอกพจน์ ประธานจึงต้องเป็น “อหํ” = ข้าพเจ้า (คนเดียว)

สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ” เป็นประโยคสมบูรณ์ แปลว่า “ข้าพเจ้าขอบอกคืนสิกขา” หมายถึง บอกลาจากเพศภิกษุ คือสึกจากพระ

คำว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ” คนเก่าๆ ที่นิยมทางคาถาอาคมจะรู้จักกันดีว่าเป็น “คาถาประจุขาด” มีอุปเท่ห์ในทางปัดเสนียด ถอนอาคม ล้างอาถรรพณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประจุขาด : (คำนาม) เรียกวิธีกล่าวคําลาสึกจากพระ.”

…………..

อภิปราย :

การสึกจากพระโดยปกติจะมี 3 ลักษณะ คือ

๑ ภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทที่เป็นอาบัติปาราชิก เมื่อการกระทำครบองค์ประกอบก็ขาดจากความเป็นพระทันทีโดยไม่ต้องมีพิธีการใดๆ คือขาดจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ แม้จะครองผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ก็ไม่ใช่พระ

๒ สึกด้วยความสมัครใจ เช่น ครบกำหนดเวลาที่ตั้งใจบวช ครบกำหนดเวลาที่ลางานมาบวช หรือเกิดความเบื่อหน่ายในสมณเพศ

การสึกในลักษณะนี้เป็นวิธีปกติ ภิกษุผู้สึกจะกล่าวคำลาสิกขา (“ลาสิกขา” ไม่ใช่ “ลาสิกขาบท”) ต่อหน้าภิกษุที่เป็นพยานว่า “สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ  คิหีติ  มํ  ธาเรถ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์

๓ สึกโดย “อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของคณะสงฆ์ หรืออำนาจของทางบ้านเมือง ในกรณีที่ภิกษุกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าไม่สมควรจะให้ครองสมณเพศอยู่อีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า การสึกจากพระไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดถึงขั้นขาดจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ หรือสึกโดยความสมัครใจเสมอไป ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็สามารถบังคับให้สึกได้ด้วย

ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในชมพูทวีปเป็นบทเรียนที่พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่า ถ้าพระสงฆ์ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยจนทำให้ผู้มีอำนาจสิ้นความเลื่อมใสก็ดี หรือแม้พระสงฆ์จะไม่ได้ประพฤติวิปริต แต่ผู้มีอำนาจไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาก็ดี ล้วนเป็นอันตรายต่อสมณเพศได้ทั้งสิ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลูกคนหนึ่งถูกฆ่าต่อหน้าพ่อ

: เฝ้าแต่รอน้ำใจพ่อไม่เห็น

: ลูกอยู่หลังระวังไว้อย่าใจเย็น

: เพราะอาจเป็นเหมือนลูกพ่อคนต่อไป

21-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย