บาลีวันละคำ

อาณานิคม (บาลีวันละคำ 1,933)

อาณานิคม

ยังล่าไม่เลิก

อ่านว่า อา-นา-นิ-คม

แยกคำเป็น อาณา + นิคม

(๑) “อาณา

อ่านว่า อา-นา รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาณา : (คำนาม) อํานาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ. (ป.; ส. อาชฺญา).”

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง อาณา อาญา และ อาชญา

(๒) “นิคม

บาลีอ่านว่า นิ-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (แทนศัพท์ว่า “นิพนฺธ” = ผูกพัน, ต่อเนื่อง, ขยาย) + คาม (หมู่บ้าน) + ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ คา-(ม) เป็น อะ (คาม > คม)

: นิ + คาม = นิคาม + = นิคาม > นิคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่บ้านที่เกินหนึ่ง คือที่ปรากฏด้วยโภคะและผู้คนเป็นต้น” (2) “หมู่บ้านที่เจริญยิ่ง” (3) “หมู่บ้านอันเป็นที่มาแห่งรายได้ไพบูลย์ต่อเนื่อง” หมายถึง หมู่บ้าน (คาม) หลายๆ แห่งรวมกัน ตรงกับที่คำไทยเรียกว่า “ตำบล” คือเมืองเล็กๆ, เมืองที่ติดตลาด (a small town, market town)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิคม ๑ : (คำนาม) หมู่บ้านขนาดใหญ่, ถิ่นฐานหรือชุมชนที่เกิดขึ้นจากการตั้งหลักแหล่ง, หมู่บ้านใหญ่หรือตำบลที่ประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่เพื่อประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน เช่น นิคมสร้างตนเอง นิคมอุตสาหกรรม. (ป.; อ. settlement).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “นิคม” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า settlement

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล settlement เป็นบาลีดังนี้ –

(1) sannivesa สนฺนิเวส (สัน-นิ-เว-สะ) = การตั้งถิ่นฐาน

(2) gharabandhana ฆรพนฺธน (คะ-ระ-พัน-ทะ-นะ) = การตั้งบ้านเรือนขยายออกไป

(3) niviṭṭhaṭṭhāna นิวิฏฺฐฏฺฐาน (นิ-วิด-ถัด-ถา-นะ) = การลงหลักปักฐาน, การตั้งถิ่นฐาน

(4) janapada ชนปท (ชะ-นะ-ปะ-ทะ) = “ชนบท” > ถิ่นฐานที่อยู่นอกเมืองหลวง (บางทีหมายถึงรัฐ)

อาณา + นิคม = อาณานิคม แปลตามศัพท์ว่า “ถิ่นฐานที่เป็นไปในอำนาจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาณานิคม : (คำนาม) เมืองขึ้น, ประเทศที่อยู่ใต้อํานาจอธิปไตยของประเทศอื่น.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า “อาณานิคม” คำอังกฤษว่า a dependency, a colony

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล dependency เป็นบาลีว่า –

parādhīnadesa ปราธีนเทส (ปะ-รา-ที-นะ-เท-สะ) = เมืองที่ต้องพึ่งพาเมืองอื่น

และแปล colony เป็นบาลีว่า –

videsīya-janapada วิเทสีย-ชนปท (วิ-เท-สี-ยะ-ชะ-นะ-ปะ-ทะ) = เมืองของรัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่ในต่างถิ่น

…………..

ขยายความ :

อาณานิคมสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 กรณี คือ

กรณีแรก คือการจัดตั้งอาณานิคม ในอดีต เจ้าอาณานิคมมักส่งคณะบุกเบิกไปตั้งอาณานิคมในดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ

กรณีที่สอง คือการเข้ายึดครองดินแดนซึ่งเดิมอาจเคยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของตนเองมาก่อน หรืออาจมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ก่อน

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของการมีอาณานิคม คือการแสวงหาทรัพยากรและผลประโยชน์ป้อนแก่แผ่นดินบ้านเกิดของเจ้าอาณานิคมที่เรียกว่า “แผ่นดินแม่”

(จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อ่านเมื่อ 24 กันยายน 2560)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใจยังตกเป็นทาสของกิเลส

: ก็ช่างน่าสังเวชที่ยังมีหน้ามาบอกว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร

#บาลีวันละคำ (1,933)

24-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย