บาลีวันละคำ

พระที่นั่งราเชนทรยาน (บาลีวันละคำ 1,962)

พระที่นั่งราเชนทรยาน

เป็นทั้งพระที่นั่ง ทั้งพระราชยาน

คำศัพท์คือ “ราเชนทรยาน” อ่านว่า รา-เชน-ทะ-ระ-ยาน แยกศัพท์เป็น ราเชนทร + ยาน

(๑) “ราเชนทร” มาจากคำว่า ราช + อินทร

(1) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(ก) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(ข) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(2) “อินทร” เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)

: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

(ข) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ปัจจัย

: อินฺทฺ + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่

อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –

(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)

(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)

อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”

อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินทร-, อินทร์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อินทร์ : ผู้เป็นใหญ่, จอมเทพ, ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเทพชั้นจาตุมหาราชิกา; เรียกตามนิยมในบาลีว่า ท้าวสักกะ.”

ราช + อินฺท = ราชินฺท แผลง อิ ที่ อินฺ- เป็น เอ = ราเชนฺท เขียนแบบไทยอิงสันสกฤตเป็น ราเชนทร แปลว่า “พระราชาผู้เป็นใหญ่” หรือ “ผู้เป็นใหญ่คือพระราชา” หรือ “ผู้เป็นใหญ่แห่งพระราชา” (คือเป็นใหญ่ในหมู่พระราชา)

(๒) “ยาน

บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป

ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –

(1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding)

(2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)

ราเชนทร + ยาน = ราเชนทรยาน แปลโดยโวหารว่า “พาหนะแห่งจอมราชัน

…………..

หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “พระที่นั่งราเชนทรยาน” ไว้ดังนี้ –

…………..

พระที่นั่งราเชนทรยาน : เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะเป็นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน ๕ ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพนมไว้ตรงกลาง และมีรูปครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน มีคานสำหรับหาม ๔ คาน ใช้คนหาม ๕๖ คน แต่เวลาปกติจะคงคานประจำไว้ ๒ คาน ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า “ขบวนสี่สาย” เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียรไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ ยังใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และพระอัฐิพระบรมวงศ์จากพระเมรุมาศ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ไปยังพระบรมมหาราชวังอีกด้วย

…………..

อภิปราย :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “ราชยาน” (ราด-ชะ-ยาน) บอกไว้ว่า –

ราชยาน : (คำนาม) ยานชนิดคานหามของหลวง, เรียกว่า พระยาน ก็มี เช่น พระยานมาศ, เรียกว่า พระราชยาน ก็มี เช่น พระราชยานกง พระราชยานถม, เรียกว่า พระที่นั่งราชยาน ก็มี เช่น พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง, หรือเรียกเป็นอย่างอื่นก็มี คือ พระที่นั่งราเชนทรยาน. (ส.).”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ราชยาน : (คำนาม) ยานของหลวงใช้โดยสารหรือเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปที่สำคัญ พระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรังคาร เป็นต้น มีหลายชนิดต่างกัน ใช้หิ้ว หาม แบก เช่นเสลี่ยง คานหาม คันหาม วอ สีวิกา เช่น พระราชยานกง พระราชยานถม พระราชยานสามลำคาน, โบราณใช้ว่า ราชทยาน ก็มี (ส.).”

ราเชนทรยาน” มีชื่อเต็มว่า “พระที่นั่งราเชนทรยาน” ถ้าดูเฉพาะชื่อ “ราเชนทรยาน” จะเห็นว่าเป็นราชยานสำหรับทรงเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน แต่เมื่อมีคำว่า “พระที่นั่ง” นำหน้า เป็น “พระที่นั่งราเชนทรยาน” จึงทำให้มีความหมายเป็น 2 สถานะ คือ สถานะหนึ่งเป็น “พระที่นั่ง” อีกสถานะหนึ่งเป็น “พระราชยาน

ถ้าดูตามลักษณะ (ดูภาพประกอบ) จะเห็นว่าลักษณะเป็นทรงบุษบก ซึ่งอยู่ในสถานะเป็น “พระที่นั่ง” แต่เมื่อมีคานหาม ย่อมทำให้พระที่นั่งกลายเป็น “พระราชยาน” อีกสถานะหนึ่ง

พระที่นั่งราเชนทรยาน” มีข้อควรสังเกตดังว่ามานี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ผิว่าข้าพเจ้ามีฤทธานุภาพแบ่งภาคไปเกิดเป็นพระที่นั่งราเชนทรยานได้แล้วไซร้

: ภาคพระราชยานจะนำเสด็จไท้สู่พิภพดุสิต

: ภาคพระที่นั่งจะกราบบังคมทูลให้ประทับสถิตอยู่กับทวยไทยเป็นนิรันดรกาล

—————-

(ภาพประกอบจาก google)

#บาลีวันละคำ (1,962)

23-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย