บาลีวันละคำ

ลักขบุราคม (บาลีวันละคำ 2,118)

ลักขบุราคม

พระเจ้าแสนเมืองมา

อ่านว่า ลัก-ขะ-บุ-รา-คม

ประกอบด้วยคำว่า ลักข + บุร + อาคม

(๑) “ลักข

บาลีเป็น “ลกฺข” (ลัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: ลกฺขฺ + = ลกฺข (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย

ลกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องหมาย (a mark)

(2) เป้า (a target)

(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)

(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักขะ : (คำนาม) เครื่องหมาย, เป้า; จํานวนแสนหนึ่ง. (ป.; ส. ลกฺษ).”

ในที่นี้ “ลักข” หมายถึง จํานวนแสนหนึ่ง

(๒) “บุร

บาลีเป็น “ปุร” (ปุ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปุ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่รักษาประชาชนจากอำนาจของศัตรู

(2) ปุรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปุรฺ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่รักษาประชาชน

ปุร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เมือง, ป้อม, บุรี (a town, fortress, city)

(2) ที่อยู่อาศัย, บ้านหรือส่วนของบ้าน (dwelling, house or part of a house)

(3) ร่างกาย (the body)

(๓) “อาคม

บาลีอ่านว่า อา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก อา + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: อา + คมฺ = อาคม + = อาคม แปลตามศัพท์ว่า “การมา” “สิ่งที่มา

เสริมความรู้ :

อา” เป็นคำจำพวกที่เรียก “อุปสรรค” คือใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ

ในที่นี้ “อา” ใช้ในความหมายว่า “กลับความ

กลับความ” หมายความว่า คำที่อยู่หลัง (โดยมากเป็นธาตุ คือรากศัพท์) มีความหมายอย่างไร เมื่อมี “อา-” มานำหน้า ก็จะเปลี่ยนความหมายเป็นตรงกันข้าม เช่น –

ทา ธาตุ หมายถึง “ให้” ถ้ามี “อา” นำหน้า เป็น “อาทา”  เช่นคำว่า “อาทาน” ก็กลับความหมายจาก ให้ เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น เอา, รับ, จับ, ถือ

นี ธาตุ หมายถึง “นำไป” ถ้ามี “อา” นำหน้า เป็น “อานี” เช่นในคำว่า “อานีต” ก็กลับความหมายจาก นำไป เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น นำมา

ดังนั้น คมฺ ธาตุ หมายถึง “ไป” เมื่อมี “อา” นำหน้าเป็น “อาคม” ก็กลับความหมายจาก “ไป” เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น “มา

แต่พึงทราบว่า คำที่ “อา” ไปนำหน้ามิใช่จะ “กลับความ” ไปหมดทุกคำ

อา” อาจจะมีความหมายว่า “ทั่วไป” หรือ “ยิ่งขึ้น” ก็ได้

คำไหนจะกลับความหรือไม่กลับความ ขึ้นอยู่กับความหมายที่ลงตัวแล้วของคำนั้นๆ

อาคม” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การมา, การเข้าใกล้, บรรลุ (coming, approach, result)

(2) สิ่งที่คนอาศัย, ทรัพยากร, หนทาง, ที่อ้างอิง, แหล่งสำหรับอ้างอิง, ตำรา, คัมภีร์, พระบาลี (that which one goes by, resource, reference, source of reference, text, Scripture, Canon)

(3) กฎ, ข้อปฏิบัติ, วินัย, การเชื่อฟัง (rule, practice, discipline, obedience)

(4) ความหมาย, ความเข้าใจ (meaning, understanding)

(5) การใช้คืน (ซึ่งหนี้สิน) (repayment [of a debt])

(6) เป็นศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ = “เพิ่มเข้าไป”, พยัญชนะหรือพยางค์ที่เพิ่มขึ้นหรือใส่เข้าไป (as gram. = “augment”, a consonant or syllable added or inserted)

ตัวอย่างความหมายในข้อ (6) เช่น :

ยทิทํ (ยะ-ทิ-ทัง, ในบทสวดสังฆคุณ-ยทิทํ จตฺตาริ …) มาจากคำว่า ยํ + อิทํ จะเห็นว่าไม่มี ทหาร เมื่อสนธิกันควรจะเป็น “ยํอิทํ” หรือ “ยอิทํ” แต่เป็น “ยทิทํ” เพราะเพิ่ม ทหารลงไประหว่าง ยํ กับ อิทํ

ทหาร ที่เพิ่มเข้าไปนี้คือ “อาคม” เรียกว่า ท-อาคม

จริต ประกอบด้วย จรฺ ธาตุ + ปัจจัย ควรเป็น “จรต” แต่เป็น “จริต” เพราะเพิ่มสระ อิ ที่ –

สระ อิ ที่เพิ่มเข้ามานี้คือ “อาคม” เรียกว่า อิ-อาคม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาคม : (คำนาม) เวทมนตร์, บางทีใช้คู่กับ คาถา เป็น คาถาอาคม; การมา, การมาถึง, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น มีนาคม คือ มีน + อาคม แปลว่า การมาถึงราศีมีน. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

ลกฺข + ปุร = ลกฺขปุร (ลัก-ขะ-ปุ-ระ) แปลว่า “เมืองแสนหนึ่ง

ลกฺขปุร + อาคม = ลกฺขปุราคม (ลัก-ขะ-ปุ-รา-คะ-มะ) แปลว่า “การมาของเมืองแสนหนึ่ง

ขยายความ :

คำว่า “ลกฺขปุราคม” เป็นคำที่ปรากฏในหนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” งานนิพนธ์ภาษาบาลีของพระรัตนปัญญาเถระ พระภิกษุชาวล้านนา

ในการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนาตอนหนึ่งมีข้อความที่แปลเป็นไทยว่า

…………

เมื่อพระเจ้ากือนาล่วงลับไปแล้ว พระราชบุตรของพระองค์ พระนามว่า แสนเมืองมา ครองราชย์สมบัติในเมืองเชียงใหม่โดยยุติธรรม เมื่อพระชนมายุได้ 23 ปี …”

…………

ชื่อพระเจ้าแสนเมืองมา ท่านผูกเป็นคำบาลีว่า “ลกฺขปุราคม” แปลเรียงตามลำดับว่า –

ลกฺข = แสน

ปุร = เมือง

อาคม = มา

ลกฺขปุราคม = แสนเมืองมา

เขียนแบบไทยว่า “ลักขบุราคม” อ่านว่า ลัก-ขะ-บุ-รา-คม

เหตุที่พระเจ้าแสนเมืองมาได้พระนามเช่นนี้ ท่านว่าในช่วงที่ประสูตินั้นอาณาจักรล้านนากำลังรุ่งเรือง มีท้าวพญาต่างเมืองนำบรรณาการจำนวนมากมาถวายแด่พระเจ้ากือนาผู้เป็นพระราชบิดา

กล่าวตามสำนวนอุปมาว่า มีต่างเมืองมาเจริญสัมพันธไมตรีนับแสนเมือง จึงตั้งนามพระราชบุตรว่า “แสนเมืองมา”

พระเจ้าแสนเมืองมาเสวยราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. 1928-1944 ทรงมีราชบุตร 3 องค์คือ เจ้าอ้าย เจ้ายี่กุมกาม และเจ้าสามฝั่งแกน

ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีสิ่งเดียว แต่รู้จักพอใจ

: มีค่ากว่าแสนสิ่งไรๆ ที่ใจไม่รู้จักพอ

————-

(ตามคำที่ผุดขึ้นมาในคลองใจของพระคุณท่าน Bm. Chaiwut Pochanukul)

#บาลีวันละคำ (2,118)

31-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *