บาลีวันละคำ

หนี้สงฆ์ (บาลีวันละคำ 1,991)

หนี้สงฆ์

บาลีว่าอย่างไร

ถ้าแปลคำต่อคำ –

หนี้” คำบาลีคือ “อิณ

สงฆ์” คำบาลีคือ “สงฺฆ

(๑) “อิณ” อ่านว่า อิ-นะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: อิ + ยุ > อน = อิน > อิณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความงอกงาม” หมายถึง หนี้ (debt)

(๒) “สงฆ์

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > : สงฺ + = สงฺฆ + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” หมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

ประสมกันซื่อๆ แบบไทย หนี้ > สงฆ์ : อิณ + สงฺฆ = อิณสงฺฆ

ประสมกันตามหลักบาลี สงฆ์ < หนี้  :  สงฺฆ + อิณ = สงฺฆิณ

ตรวจดูในคัมภีร์ ยังไม่พบศัพท์ที่มีรูปร่างหน้าตาแบบนี้

…………..

อภิปราย :

คำว่า “หนี้สงฆ์” เพิ่งจะนิยมพูดกันเมื่อไม่นานปีมานี้ เริ่มจากที่มีผู้ไปปฏิบัติธรรมที่วัด 3 วัน 7 วัน กินข้าววัด นอนที่วัด ใช้น้ำใช้ไฟวัด บวกกับความรู้เดิมที่ว่าของวัดเป็น “ของสงฆ์” และของสงฆ์นั้นเป็นของสูง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ พระภิกษุสงฆ์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์บริโภคใช้สอยได้ เมื่อตนซึ่งเป็นชาวบ้านไปกินไปใช้ของวัด จึงรู้สึกขึ้นว่าเป็นหนี้วัด คือ “หนี้สงฆ์” คนที่รู้สึกเช่นนี้จึงมักบริจาคเงินให้วัดนั้นโดยตั้งเจตนาว่าเป็นการใช้หนี้สงฆ์ บางทีก็เรียกว่า ชำระหนี้สงฆ์

ความรู้สึกว่าเป็น “หนี้สงฆ์” นั้น เกิดจากอัธยาศัยที่ละเอียดอ่อนอันเป็นพื้นจิตของคนไทยที่มีใจเป็นกุศลมาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จากหลักความประพฤติหลายๆ อย่างของคนโบราณ เช่น

เมื่อเดินออกจากวัดต้องเคาะดินที่ติดรองเท้าออกเสียก่อน เพื่อมิให้ของสงฆ์ติดกลับไปที่บ้าน

บางทีจะเข้าวัดต้องถือดินไปโยนไว้ในวัดก้อนหนึ่งเพื่อชดเชยเวลาเดินออกจากวัดมีดินวัดติดเท้าไป

ยืมของวัดไปใช้เมื่อมีงานบุญที่บ้าน เวลาเอามาคืนต้องคืนให้มากกว่าจำนวนที่ยืม เช่นยืมจานไป 100 ใบ ต้องเอามาคืน 110 ใบเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการใช้ของสงฆ์เปล่าๆ

อันที่จริง การที่ญาติโยมไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด-รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาที่ไปถืออุโบสถศีลนอนค้างวัดในวันพระ-เป็นสิ่งที่สงฆ์ยินดีพอใจต้อนรับอยู่แล้ว นั่นเท่ากับสงฆ์อนุญาตให้กินให้ใช้ของสงฆ์อยู่แล้วในตัว จึงไม่เป็นโทษและไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นหนี้สงฆ์แต่ประการใด

อนึ่ง ในทางธรรม แสดงหลักคำสอนเรื่องการบริโภคใช้สอยของสงฆ์หมวดหนึ่งว่า ลักษณะที่ภิกษุสงฆ์บริโภคใช้สอยของสงฆ์หรือของที่ชาวบ้านถวายมามี 4 อย่าง คือ

(1) เถยบริโภค (บริโภคอย่างเป็นขโมย) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์ แต่ละเมิดศีลธรรม

(2) อิณบริโภค (บริโภคอย่างเป็นหนี้) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์ มีศีลมีธรรม แต่บริโภคใช้สอยโดยไม่มีสติ กิน-ใช้เพื่อความสนุกสนาน ติดสุขติดสบาย หรืออวดหรูหรา

(3) ทายัชชบริโภค (บริโภคอย่างเป็นทายาท) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์แล้วปฏิบัติจนได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบันจนถึงอนาคามี

(4) สามีบริโภค (บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์แล้วปฏิบัติจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ข้อ (2) “อิณบริโภค” อาจจะประยุกต์ใช้กับชาวบ้านได้ นั่นคือ ถ้าไม่อยากอยู่ในฐานะเป็น “หนี้สงฆ์” ก็พึงบริโภคใช้สอยปัจจัยเครื่องดำรงชีพอย่างมีสติ ไม่กิน-ใช้เพื่อความสนุกสนาน ติดสุขติดสบาย หรืออวดมั่งมีหรูหรา แต่กิน-ใช้อย่างรู้คุณค่า ประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทำได้เท่านี้ก็จะได้ชื่อว่า ใช้ทรัพยากรของโลก แต่ไม่เป็นหนี้โลก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การชำระหนี้สงฆ์ให้ถูกวิธี

: คือการประพฤติชอบปฏิบัติดีตามพระธรรมวินัย

#บาลีวันละคำ (1,991)

24-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย