บาลีวันละคำ

ขัดสัคเค (บาลีวันละคำ 1,993)

ขัดสัคเค

อ่านว่า ขัด-สัก-เค

(๑) “ขัด

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ขัดตำนาน” บอกไว้ว่า –

ขัดตำนาน : (คำกริยา) สวดบทนําเป็นทํานองก่อนสวดมนต์.”

ขัด” ในที่นี้มีความหมายเช่นเดียวกับ “ขัดตำนาน” แต่เนื่องจากข้อความที่เป็นบทขัดขึ้นต้นว่า “สคฺเค  กาเม  จ  รูเป” จึงนิยมเรียกกันว่า “ขัดสัคเค

(๒) “สัคเค

รูปคำเดิมในบาลีคือ “สคฺค” (สัก-คะ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม) + อคฺค ลบ อุ ที่ สุ (สุ > )

อคฺค” มีความหมายว่า เด่น, ยอดเยี่ยม, ดีที่สุด, สูงสุด, สำคัญที่สุด (illustrious, excellent, the best, highest, chief)

: สุ > + อคฺค = สคฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่ดำรงอยู่ยืนนานและสวยงาม” (2) “แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ” (3) “แดนที่มีอารมณ์อันเลิศ” (คือได้พบเห็นสัมผัสแต่สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ) (4) “แดนที่ติดข้อง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล สคฺค ว่า heaven, the next world (สวรรค์, โลกหน้า) แล้วขยายความว่า popularly conceived as a place of happiness and long life (ตามมโนภาพทั่วๆ ไป เข้าใจกันว่าเป็นสถานที่มีควมสุขและมีอายุยืน)

สคฺค” สันสกฤตเป็น “สฺวรฺค” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวรรค์” (สะ-หฺวัน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวรรค-, สวรรค์ : (คำนาม) โลกของเทวดา, เมืองฟ้า. (ส. สฺวรฺค; ป. สคฺค).”

ตามปกติคำว่า “สคฺค” หมายถึง สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

แต่ความหมายในวงกว้าง “สคฺค” หมายถึงเทวโลกทุกภพภูมิ

สคฺค” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “สคฺเค” แปลว่า “ในสวรรค์

คำว่า “ขัดสัคเค” นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ชุมนุมเทวดา” เพราะเป็นคำกล่าวเชิญชวนเทวดาให้มาชุมนุมกันเพื่อฟังธรรม ในโอกาสที่พระสงฆ์สวดพระปริตร, เรียกเต็มว่า “บทขัดชุมนุมเทวดา

ลำดับการ “ขัดสัคเค” โดยปกติเป็นดังนี้ –

๑ บูชาพระรัตนตรัย

๒ อาราธนาศีล

๓ พระสงฆ์ให้ศีล

๓ อาราธนาพระปริตร

๔ พระสงฆ์ขัดสัคเค

บท “ขัดสัคเค” ที่นิยมเป็นยุติแล้วมีข้อความดังนี้ –

ถ้าเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย นิยมขึ้นต้นว่า

ผริตฺวาน เมตฺตํ สเมตฺตา ภทนฺตา

อวิกฺขิตฺตจิตฺตา ปริตฺตํ ภณนฺตุ.

(ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงมีเมตตาแผ่เมตตาจิตไปเถิด

จงสวดพระปริตร อย่าได้มีจิตฟุ้งซ่านเลย)

ถ้าเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นิยมขึ้นต้นว่า

สมนฺตา จกฺกวาเฬสุ……อัตฺราคจฺฉนฺตุ เทวตา

สทฺธมฺมํ มุนิราชสฺส…….สุณนฺตุ สคฺคโมกฺขทํ.

(ขอเชิญเทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลาย

จงมาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้

จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน

ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี)

แล้วจึงต่อด้วยข้อความดังต่อไปนี้ –

สคฺเค  กาเม  จ  รูเป  คิริสิขรตเฏ

จนฺตลิกฺเข   วิมาเน

(ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี

รูปภพก็ดี อยู่ในวิมานเหนือยอดเขาแลเขาขาด ในอากาศก็ดี)

ทีเป  รฏฺเฐ  จ  คาเม ตรุวนคหเน

เคหวตฺถุมฺหิ  เขตฺเต

(ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาแลป่าชัฏก็ดี

ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี)

ภุมฺมา  จายนฺตุ  เทวา  ชลถลวิสเม

ยกฺขคนฺธพฺพนาคา

(ภุมเทวดาก็ดี ยักษ์ คนธรรพ์และนาค ซึ่งสถิตอยู่ในน้ำแลบนบก

และที่อันไม่เรียบราบก็ดี)

ติฏฺฐนฺตา  สนฺติเก  ยํ  มุนิวรวจนํ

สาธโว  เม  สุณนฺตุ.

(ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้

คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ

ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า)

ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา

(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม)

ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา

(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม)

ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา.

(ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม.)

…………..

อภิปราย :

บท “ขัดสัคเค” นี้เป็นบทที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้น สำหรับให้บุคคลหนึ่งสวดนำ เรียกว่า “ขัดนำ” ก่อนที่พระสงฆ์จะเริ่มสวดพระปริตร (ธรรมเนียมบัดนี้ให้ภิกษุรูปที่นั่งอันดับ 3 เป็นผู้ขัด)

ข้อความในบท “ขัดสัคเค” เป็นคำเชิญชวนเทวดาทั่วทั้งหมดให้มาฟังธรรมอันมีในบาลีภาษิตแห่งพระปริตรที่จะสวดต่อไปนั้น ดังคำลงท้ายว่า “ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา” แปลว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม

ตามความหมายและความมุ่งหมาย จะเห็นได้ว่าบทขัดสัคเคใช้เฉพาะงานที่มีการสวดมนต์เท่านั้น เพราะเป็นการเชิญเทวดามาฟังธรรม คือมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

เท่าที่เคยพบ ในพิธีการบางอย่าง เช่นพิธีบวงสรวงสังเวย พิธีไหว้ครู เป็นต้น ซึ่งไม่มีการสวดมนต์ และไม่มีการแสดงธรรมใดๆ พิธีกรหรือเจ้าพิธีก็นิยมกล่าวบทขัดสัคเคด้วยเสมอ ดูตามเจตนา ก็คือตั้งใจเชิญเทวดามาเพื่อให้ประสิทธิ์ประสาทความสำเร็จในงานพิธีนั้นๆ โดยเข้าใจเอาเองว่าจะเชิญเทวดาก็ต้องว่าบทชุมนุมเทวดา แต่ไม่ได้ศึกษาให้รู้ชัดว่า บทชุมนุมเทวดานั้นท่านประพันธ์ขึ้นเพื่อเชิญเทวดามาฟังธรรมเท่านั้น ไม่ได้เชิญให้มาทำอย่างอื่น

เราฝังหัวกันเสียแล้วว่า บทขัดสัคเคคือบทเชิญเทวดามาในพิธี จะทำพิธีกรรมอะไรต้องชุมนุมเทวดาก่อนเสมอ ขาดไม่ได้ ถึงขนาดเชื่อกันว่า สามีภรรยาที่อยากได้ลูกที่เป็นเด็กดี ให้ชุมนุมเทวดาก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ เทวดาจะมาเกิดเป็นลูก

เจตนาเชิญเทวดานั้นเป็นเรื่องดี แต่คำเชิญก็ควรจะถูกต้องด้วยจึงจะดีครบ

ดูเพิ่มเติม : “ชุมนุมเทวดา” บาลีวันละคำ (1,174) 16-8-58

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โอกาสทำความดีไม่ได้มีทุกเวลา

: อย่าเอาแต่ชุมนุมเทวดาจนไม่มีเวลาทำดี

—————-

(ตามคำขอของ Bali Thitapunyo)

#บาลีวันละคำ (1,993)

26-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย