บาลีวันละคำ

ฆาตกรรม (บาลีวันละคำ 2,175)

ฆาตกรรม

อ่านว่า คาด-ตะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า ฆาต + กรรม

(๑) “ฆาต

บาลีอ่านว่า คา-ตะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง หนฺ เป็น ฆาต

: หนฺ+ = หน > ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)

ในทางหลักภาษา “ฆาต” อาจแปลได้หลายลักษณะ คือ

– การทำให้ตาย > การฆ่า

– ผู้ทำให้ตาย > ผู้ฆ่า

– อุปกรณ์เป็นเครื่องทำให้ตาย > เครื่องมือฆ่า

– สถานที่เป็นที่ทำให้ตาย > ที่ฆ่า > ที่ตาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฆาต, ฆาต– : (คำนาม) การฆ่า, การทำลาย. (คำกริยา) ตี เช่น เจ้าวิลาสฆาตกลองเร่งกองรบ (อภัย).”

(๒) “กรรม

บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

กรรม” ในแง่ภาษา –

1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)

2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม

3- กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)

กรรม” ในแง่ความหมาย –

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

ฆาต + กมฺม = ฆาตกมฺม (คา-ตะ-กำ-มะ) > ฆาตกรรม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมคือการฆ่า” “การทำซึ่งการฆ่า

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฆาตกรรม : (คำนาม) การฆ่าคน. (ป. ฆาต + ส. กรฺมนฺ).”

ฆาตกรรม” แปลเป็นคำอังกฤษสามัญที่เข้าใจกัน คือ murder

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล murder เป็นบาลี ดังนี้ –

(1) manussaghātana มนุสฺสฆาตน (มะ-นุด-สะ-คา-ตะ-นะ) = การฆ่าคน

(2) vadho วโธ (วะ-โท) > วธ (วะ-ทะ) = การตี, การฆ่า; การฆ่าฟัน, การทำลาย

ขยายความ :

ฆาตกรรม” ตามความหมายที่รู้สึกกันในสังคม เล็งถึงการวางแผนหรือตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะฆ่า ไม่ว่าการวางแผนหรือตั้งใจนั้นจะเกิดขึ้นล่วงหน้าเป็นเวลานานหรือเกิดขึ้นในทันทีทันใด ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่ฆ่าก็ได้ แต่ก็ยังจงใจที่จะฆ่า การฆ่าที่ตั้งใจทำเช่นว่านี้เรียกว่า “ฆาตกรรม

การฆ่าตามอำนาจหน้าที่ เช่นการประหารชีวิตนักโทษ

การฆ่าที่กระทำเพราะเหตุสุดวิสัย เช่นการป้องกันตัว หรือการตายเพราะอุบัติเหตุ

การฆ่าเนื่องจากการระงับเหตุซึ่งไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น เช่นตำรวจยิงต่อสู้กับผู้ร้าย

การฆ่าอันเกิดขึ้นในการสู้รบหรือการสงคราม (เราไม่ฆ่าเขา เขาก็ฆ่าเรา)

การฆ่าตามลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะเป็น “การทำให้ตาย” ตามความหมายของถ้อยคำ แต่ก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ฆาตกรรม” ตามเจตนารมณ์ของคำนี้

ตั้งใจฆ่าทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงจะเป็น “ฆาตกรรม” ตามเจตนารมณ์ของคำนี้

ว่าโดยสำนวนโวหารหรือโดยอุปมา “ฆาตกรรม” อาจไม่ใช่การฆ่าหรือการล้างชีวิตเสมอไป

การทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ความถดถอยย่อยยับ หรือความพินาศเสียหายแก่วิถีชีวิตของบุคคล แก่สถาบัน แก่กิจการ หรือแก่วัฒนธรรม ประเพณี อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจพูดได้ว่าเป็นการ “ฆาตกรรม” ด้วยเช่นกัน เช่น –

ขณะนี้พระพุทธศาสนากำลังถูกวางแผน “ฆาตกรรม” อย่างเลือดเย็น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฆาตกรรมคือบาปกรรม

: อย่าทำ ถ้าไม่พร้อมจะตกนรก

#บาลีวันละคำ (2,175)

27-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *