บาลีวันละคำ

สรรพากร (บาลีวันละคำ 2,198)

สรรพากร

อ่านว่า สัน-พา-กอน

แยกศัพท์ออกเป็น สรรพ + อากร

(๑) “สรรพ

บาลีเป็น “สพฺพ” (สับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง เป็น , แปลง รฺ ที่ สรฺ เป็น พฺ (สรฺ > สพฺ)

: สรฺ + = สรฺว > สรฺพ > สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

(2) สพฺพฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: สพฺพฺ + = สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

สพฺพ” (คุณศัพท์) หมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง (whole, entire; all, every)

สพฺพ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สรรพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรรพ, สรรพ– : (คำวิเศษณ์) ทุกสิ่ง, ทั้งปวง, ทั้งหมด, เช่น พร้อมสรรพ งามสรรพ เสร็จสรรพ สรรพสิ่ง สรรพสินค้า. (ส. สรฺว; ป. สพฺพ).”

(๒) “อากร

บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: อา + กรฺ + = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อากร : (คำนาม) หมู่, กอง, เช่น พลากร (พล + อากร); บ่อเกิด, ที่เกิด, เช่น ทรัพยากร ศิลปากร; ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว หมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น ดารากร นรากร ทวิชากร ประชากร หรืออาจมีความหมายคงเดิมก็ได้ เช่น พระปฏิมากร.”

สพฺพ + อากร = สพฺพากร (สับ-พา-กะ-ระ) > สรรพากร แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งรายได้ทั้งปวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรรพากร : (คำนาม) อากรที่เก็บจากสิ่งที่เป็นเองหรือมีบ่อเกิดเป็นรายได้.”

ขยายความ :

สรรพากร” ตรงกับคำอังกฤษว่า revenue

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล revenue เป็นบาลีดังนี้ –

(1) rājabali ราชพลิ (รา-ชะ-พะ-ลิ) = รายได้เพื่อพระราชา, รายได้ที่จ่ายให้ทางราชการ

(2) kara กร (กะ-ระ) = “สิ่งที่กระจายไปสู่ที่มืด” (คือจ่ายไปแล้วไม่ทราบว่าถูกนำไปใช้ทางไหนบ้าง) คือภาษี

(3) bali พลิ (พะ-ลิ) = “สิ่งเป็นเหตุให้มีชีวิตอยู่” คือภาษี

(4) āya อาย (อา-ยะ) = รายได้, กำไร

อภิปราย :

น่าสังเกตคำแปล revenue เป็นบาลีคำหนึ่ง คือ “กร

ในภาษาไทยเราเข้าใจกันว่า “กร” หมายถึง มือ หรือ “ผู้ทำ” แต่ในภาษาบาลี “กร” มีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจ คือหมายถึง –

(1) “ผู้ทำ” (the maker) = มือ (the hand)

(2) ผลิต, ก่อ, ประกอบ, สร้าง, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(3) รายได้, ภาษี (revenue, tax, toll)

อาจเป็นไปได้ที่คำว่า revenue นี้ผู้คิดคำในภาษาไทยต้องการจะใช้คำว่า “สรรพกร” คือ –

: สรรพ (ทั้งปวง) + กร (รายได้, ภาษี) = สรรพกร อ่านว่า สัน-พะ-กอน

แต่อาจจะเป็นเพราะมีคนอ่าน สัน-พะ-กอน เป็น สัน-พา-กอน ตามสะดวกปากกันมาก หนักๆ เข้าก็พากันเขียนเป็น “สรรพากร” ไปด้วย รูปคำสามารถแยกเป็น สรรพ + อากร ได้พอดี จึงพากันอธิบายผิดจากคำเดิมให้กลายเป็นถูกตามคำใหม่ กลายเป็นคำที่ “ผิดจนถูก” ไปในที่สุด

ที่ว่ามานี้เป็นสันนิษฐาน ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่ประการใด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รายได้ของแผ่นดินก็เหมือนของสงฆ์

: ถ้าน้ำใจไม่ซื่อตรงก็ตกนรกได้ทุกเวลา

หมายเหตุ:

ภาพประกอบบาลีวันละคำวันนี้มีเจตนาจะช่วยกระจายข่าวตามคำยืนยันของกรมสรรพากรว่า

“กรมสรรพาก(ร)ขอเรียนยืนยันว่ากรมสรรพากรไม่มีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีจากวัดหรือพระภิกษุสงฆ์แต่อย่างใด”

จึงขอได้โปรดทราบโดยทั่วกัน

#บาลีวันละคำ (2,198)

19-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *