บาลีวันละคำ

โลกนิติ (บาลีวันละคำ 2,234)

โลกนิติ

อ่านว่า โลก-กะ-นิด

ประกอบด้วยคำว่า โลก + นิติ

(๑) “โลก

บาลีอ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย, ลบ , แปลง เป็น , แผลง อุ ที่ ลุ-(ชฺ) เป็น โอ

: ลุชฺ + = ลุชณ > ลุช > โลช > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น , แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ + = ลุจ > ลุก > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป

(3) โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ, ตั้งอยู่) + ปัจจัย

: โลกฺ + = โลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างอันเขาเห็นอยู่” (2) “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

โลก” มีความหมายหลายหลาก เช่น โลก, แผ่นดิน, จักรวาล, คน, มนุษยชาติ, ประชาชน, สัตว์ (world, earth, universe, man, mankind, people, beings)

ขยายความ :

1 โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น

2 โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

3 โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

4 โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”

5 โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

6 โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม

ในที่นี้ “โลก” มีความหมายตามข้อ 3 คือหมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน

(๒) “นิติ

บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)

โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law

บาลี “นีติ” ภาษาไทยใช้เป็น “นิติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิติ : (คำนาม) นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”

โลก + นิติ = โลกนิติ แปลว่า “แบบแผนของโลก” หมายถึง คำแนะนำหรือแนวคิดเพื่อการดำรงตนอยู่ในโลกได้อย่างรู้เท่าทัน

ย้ำเตือน :

โลกนิติ” ในภาษาไทยอ่านว่า โลก-กะ-นิด ไม่ใช่ โลก-นิ-ติ

ขยายความ :

โลกนิติ” ที่รู้จักกันแพร่หลายในเมืองไทยก็คือ “โคลงโลกนิติ

ขอนำ “คำนำ” หนังสือโคลงโลกนิติของกรมศิลปากรมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อให้รู้จัก “โคลงโลกนิติ” และเป็นแนวทางแห่งศึกษาเรียนรู้ต่อไป

…………..

หนังสือโคลงโลกนิตินี้ เป็นสุภาษิตเก่าแก่ แต่งมาแต่โบราณครั้งกรุงเก่า เดิมนักปราชญ์ผู้แต่งเที่ยวเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและสันสกฤต อันมีอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ คือ คัมภีร์โลกนิติบ้าง คัมภีร์โลกนัยบ้าง ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมบทก็มี นำมาตั้งแล้วแปลแต่งเป็นคำโคลงไปทุก ๆ คาถารวมเป็นเรื่องเรียกว่า โคลงโลกนิติ เป็นสุภาษิตที่นับถือกันมาช้านาน ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมโคลงโลกนิติของเก่ามาชำระแก้ไขใหม่ให้เรียบร้อยประณีตและไพเราะ เพราะของเก่าคัดลอกกันต่อ ๆ มา ปรากฏมีถ้อยคำวิปลาสผิดพลาดมาก ครั้นสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรทรงชำระแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไวัในวัดพระเชตุพนฯ โคลงโลกนิติจึงแพร่หลายแต่นั้นมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเคยรวบรวมโคลงโลกนิติทั้งของเก่าและที่ชำระใหม่พิมพ์ขึ้นครั้งหนึ่ง ให้ชื่อว่า “ประชุมโคลงโลกนิติ” มีคาถาบาลีและสันสกฤตเท่าที่ค้นพบพิมพ์กำกับไว้ข้างต้นของโคลงภาษิตนั้นด้วย และต่อมาได้พิมพ์อีกหลายครั้ง ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ในการพิมพ์ครั้งนั้น กรมศิลปากรได้เลือกคัดเฉพาะแต่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรทรงชำระใหม่ แต่คาถาคงไว้ตามเดิม และค้นหามาเพิ่มเติมใหม่จากการพิมพ์ครั้งแรกบ้าง แต่ถึงกระนั้นคาถาที่ยังไม่พบก็ยังมีอีกหลายบท

สุภาษิตที่ปรากฏในโคลงโลกนิติเกือบทุกบท ล้วนเป็นภาษิตที่นิยมนับถือกันว่าเป็นภาษิตที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติและจดจำไว้กล่าวสั่งสอนกันมาก การจัดทำหนังสือนี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ในทางเผยแพร่สิ่งที่ดีงามอีกโสดหนึ่งด้วย

*อธิบดีกรมศิลปากร

*สานักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

…………..

: คนที่แนะนำใครไม่ได้ น่าเห็นใจ

: คนที่ใครแนะนำไม่ได้ น่าสงสาร

ดูก่อนภราดา!

ท่านเป็นคนที่น่าเห็นใจ หรือน่าสงสาร?

#บาลีวันละคำ (2,234)

25-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *