บาลีวันละคำ

ปัจเวกขณ์ (บาลีวันละคำ 2,250)

ปัจเวกขณ์

เสกก่อนเสพ

อ่านว่า ปัด-จะ-เวก

(ตามพจนานุกรมฯ)

บาลีเป็น “ปจฺจเวกฺขณ” อ่านว่า ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก ปติ ( < ปฏิ, คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น, ดู) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ปติ เป็น (ปติ > ปตฺย) แล้วแปลง ตฺย เป็น จฺจ (ปติ > ปตฺย > ปจฺจ), แผลง อิ ที่ อิ-(กฺขฺ) เป็น เอ (อิกฺข > เอกฺข), แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: ปติ > ปตฺย > ปจฺจ + อว = ปจฺจว + อิกฺขฺ = ปจฺจวิกฺขฺ + ยุ > อน = ปจฺจวิกฺขน > ปจฺจเวกฺขน > ปจฺจเวกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า “การมองลงไปโดยเฉพาะ” หมายถึง การมองดู, การพิจารณา, การเอาใจใส่, ความสนใจ, การไตร่ตรอง, การใคร่ครวญ, การทบทวน (looking at, consideration, regard, attention, reflection, contemplation, reviewing)

ปจฺจเวกฺขณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปัจเวกขณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจเวกขณ์ : (คำแบบ) (คำนาม) การเห็นลงจําเพาะ, การพิจารณา. (ป. ปจฺจเวกฺขณ).”

อภิปรายขยายความ :

ในชีวิตประจำวันของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่อจะบริโภคใช้สอยปัจจัยเครื่องดำรงชีพ คือ บิณฑบาต (อาหาร) จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และคิลานเภสัช (ยารักษาโรค) ท่านสอนให้ทำ “ปัจเวกขณ์” คือพิจารณาก่อนทุกครั้ง

(1) พิจารณาในขณะที่กำลังจะบริโภคใช้สอย เรียกว่า “ตังขณิกปัจเวกขณ์” (ตัง-ขะ-นิ-กะ-ปัด-จะ-เวก) แปลว่า “พิจารณาในปัจจุบันขณะนั้น” ดังที่เราเห็นพระภิกษุสามเณรบางวัดพิจารณาก่อนที่จะลงมือฉันภัตตาหารด้วยบทที่เรียกรู้กันว่า “ปฏิสังขาโย

ขอนำบท “ตังขณิกปัจเวกขณ์”เฉพาะบทพิจารณาบิณฑบาต (อาหาร) พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอในที่นี้เป็นตัวอย่าง เพื่อเจริญปัญญา

ปะฏิสังขา  โยนิโส  ปิณฑะปาตัง  ปะฏิเสวามิ = เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคอาหาร

เนวะ  ทวายะ = มิใช่เพื่อเล่นสนุกสนาน

นะ  มะทายะ = มิใช่เพื่อความมัวเมา

นะ  มัณฑะนายะ = มิใช่เพื่อประดับประดา

นะ  วิภูสะนายะ = มิใช่เพื่อตกแต่ง

ยาวะเทวะ  อิมัสสะ  กายัสสะ ฐิติยา = แต่เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้

ยาปะนายะ = เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ

วิหิงสุปะระติยา = เพื่อระงับความลำบากทางกาย

พ๎รัห๎มะจะริยานุคคะหายะ = เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

อิติ  ปุราณัญจะ  เวทะนัง  ปะฏิหังขามิ = ด้วยการทำอย่างนี้เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว

นะวัญจะ  เวทะนัง  นะ อุปปาเทสสามิ = และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น

ยาต๎รา  จะ  เม  ภะวิสสะติ  อะนะวัชชะตา  จะ ผาสุวิหาโร  จาติ.= ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วย ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย ความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วย จักมีแก่เรา ดังนี้.

(2) พิจารณาทบทวนในแต่ละวันเมื่อได้บริโภคใช้สอยไปแล้ว เรียกว่า “อตีตปัจเวกขณ์” (อะ-ตี-ตะ-ปัด-จะ-เวก) แปลว่า “พิจารณาเมื่อล่วงเวลาไปแล้ว

บท “อตีตปัจเวกขณ์” นี้พระภิกษุสามเณรจะสวดทุกวันในตอนท้ายของการทำวัตรเย็น เป็นบทที่เรียกรู้กันว่า “อัชชะมะยา

ขอนำบท “อตีตปัจเวกขณ์”เฉพาะบทพิจารณาเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอในที่นี้เป็นตัวอย่าง เพื่อเจริญปัญญา

อัชชะ  มะยา  อะปัจจะเวกขิต๎วา  ยัง  เสนาสะนัง  ปะริภุตตัง = วันนี้ เสนาสนะใดอันเราใช้สอยแล้วไม่ทันพิจารณา

ตัง  ยาวะเทวะ  สีตัสสะ  ปะฏิฆาตายะ = เสนาสนะนั้นเราใช้สอยแล้วเพียงเพื่อบำบัดความหนาว

อุณ๎หัสสะ  ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดความร้อน

ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง  ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย

ยาวะเทวะ  อุตุปะริสสะยะวิโนทะนัง  ปะฏิสัลลานารามัตถัง. = เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายอันจะพึงมีจากดินฟ้าอากาศ และเพื่อความเป็นผู้ยินดีอยู่ได้ในที่หลีกเร้นสำหรับภาวนา

…………….

พึงทราบว่า การทำ “ปัจเวกขณ์” นี้ไม่ใช่ทำเฉพาะเมื่อจะฉันภัตตาหารอย่างเดียวดังที่เราเห็นพระท่านสวด “ปฏิสังขาโย” ก่อนฉันภัตตาหาร แม้เมื่อจะนุ่งสบงทรงจีวร เมื่อเข้าออกกุฏิที่อยู่อาศัย และเมื่อฉันยา ตลอดจนบริโภคใช้สอยปัจจัยใดๆ ก็ต้องพิจารณาด้วยบท “ตังขณิกปัจเวกขณ์” ทุกครั้งไป

และหากไม่ทันพิจารณาก่อนบริโภคใช้สอย ก็ต้องไปพิจารณาทบทวนในเมื่อจะสิ้นวันด้วยบท “อตีตปัจเวกขณ์” ดังที่พระท่านสวดในตอนท้ายของการทำวัตรเย็นนั้น

การละเลยไม่พิจารณาถือเป็นความบกพร่อง ผู้บกพร่องเช่นนั้นท่านว่าย่อมอยู่ในพระศาสนานี้ในฐานะเป็นหนี้ชาวบ้าน

การพิจารณาก่อนบริโภคใช้สอยปัจจัยนี้ คนเก่าๆ ท่านถือติดไปจากวัดถึงขนาดบางคนถือกันว่า แม้เมื่อจะบริโภคกามตามโลกิยวิสัยก็ควรจะทำ “ปัจเวกขณ์” ก่อนด้วย ทำนองเดียวกับที่ถือกันว่า ถ้า “ขัดสัคเค” ก่อนด้วยจะยิ่งประเสริฐ ลูกเกิดมาเป็นอภิชาตบุตรนั่นแล

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

โบราณสอนก่อนจะเสพซึ่งกาเม

ขัดสัคเคเชิญเทวดามาปฏิสนธิ์

จะได้ลูกชายหญิงมิ่งมงคล

ถ้าสัปดนได้เปรตเศษนรก

#บาลีวันละคำ (2,250)

10-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *