บาลีวันละคำ

สันตติ (บาลีวันละคำ 2,306)

สันตติ

ไม่ใช่ “สันติ”

สันตติ” (สัน-ตะ-ติ) บาลีเขียน “สนฺตติ” อ่านว่า สัน-ตะ-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตา (ธาตุ = สืบต่อ) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ตา (ตา > )

: สํ > สนฺ + ตา = สนฺตา + ติ = สนฺตาติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่สืบต่อด้วยดี

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ตนฺ > )

: สํ > สนฺ + ตนฺ = สนฺตนฺ + ติ = สนฺตนฺติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่ขยายออกไปโดยชอบ

สนฺตติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง –

(1) ความสืบต่อ, การต่อเนื่อง, ระยะยาว, การยังมีชีวิตอยู่ (continuity, duration, subsistence)

(2) เชื้อสาย (lineage)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สันตติ : (คำนาม) ความสืบต่อ เช่น สืบสันตติวงศ์. (ป.; ส. สํตติ ว่า ลูกหลาน).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สันตติ” สันสกฤตเป็น “สํตติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำที่สะกด “สํตติ” แต่มีคำที่สะกด “สนฺตติ” เหมือนบาลี บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สนฺตติ : (คำนาม) ‘สันตติ,’ ชาติ, วงศ์; บุตร์, สุดา; กุล; race, lineage; progeny, a son; a daughter; descent.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้ –

สันตติ : การสืบต่อ คือ การเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน ในทางรูปธรรม ที่พอมองเห็นอย่างหยาบ เช่น ขนเก่าหลุดร่วงไปขนใหม่เกิดขึ้นแทน ความสืบต่อแห่งรูปธรรม จัดเป็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่ง; ในทางนามธรรม จิตก็มีสันตติ คือเกิดดับเป็นปัจจัยสืบเนื่องต่อกันไป.”

ขยายความ :

ความหมายในทางธรรม “สันตติ” คือการเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน เช่น ร่างกายตอนเป็นเด็กดับไปแล้ว แต่ส่งผลสืบเนื่องเป็นร่างกายผู้ใหญ่ในปัจจุบัน

ร่างกายผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่ใช่ร่างกายตอนเป็นเด็ก

แต่ร่างกายผู้ใหญ่สืบสันตติมาจากร่างกายตอนเป็นเด็ก

ความเกิด-ดับเช่นนี้ภาษาธรรมเรียกว่า “อนิจจัง” คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่เพราะ “สันตติ” คือความเกิดดับต่อเนื่องกันไป เราจึงเห็นไปว่า ร่างกายตอนเป็นเด็กกับร่างกายตอนเป็นผู้ใหญ่เป็นร่างกายเดียวกัน

กล่าวเป็นหลักว่า “สันตติปิดบังอนิจจัง” หมายความว่า เพราะมีการสืบต่อจึงหลงผิดว่าเที่ยง ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงคือเกิด-ดับ

ความหมายในทางสังคม “สันตติ” คือการสืบทอดตำแหน่งโดยผู้ที่เป็นเชื้อสาย คือจากพ่อสู่ลูก สู่หลาน ที่พูดกันว่า “สืบสันตติวงศ์

คำว่า “สืบสันตติวงศ์” (สัน-ตะ-ติ-วง) นี้มักมีผู้พูดและเขียนผิดเป็น “สืบสันติวงศ์” (สัน-ติ-วง)

แม้จะเห็นคำว่า “สันตติวงศ์” และได้ยินคำอ่านว่า สัน-ตะ-ติ-วง แต่พอให้เขียนเองหรือพูดเองก็ยังคงเขียนเป็น “สันติวงศ์” และอ่านเป็น สัน-ติ-วง อยู่นั่นเอง เพราะคุ้นแต่คำว่า “สันติ” แต่ไม่รู้จักคำว่า “สันตติ

สันติ” บาลีเขียน “สนฺติ” (สัน-ติ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ

: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”

สันตติ” = สืบทอด, เชื้อสาย (continuity, duration)

สันติ” = ความสงบ, ความราบรื่น (tranquillity, peace)

สันตติ” กับ “สันติ” เป็นคนละคำ คนละความหมาย และใช้แทนกันไม่ได้

สืบสันตติวงศ์” มีใช้

แต่ “สืบสันติวงศ์” ไม่มีใช้

แม้จะลากถูลู่ถูกังไปว่า “สืบสันติวงศ์” คือ “สืบทอดตำแหน่งโดยสงบราบรื่น” ก็เป็นการเอาคำ 2 คำมาแปลความให้พัลวันกันไป ซึ่งผู้ที่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องแท้จริงย่อมไม่ทำเช่นนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ที่เป็นบัณฑิต

: ไม่ทำผิดให้กลายเป็นถูก

#บาลีวันละคำ (2,306)

5-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *