บาลีวันละคำ

เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคลอฏฺฐคาถา (บาลีวันละคำ 2,347)

เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคลอฏฺฐคาถา

อ่านว่า เอ-ตา-ปิ พุด-ทะ-ชะ-ยะ-มัง-คะ-ละ-อัด-ถะ-คา-ถา

เป็นข้อความวรรคแรกของพุทธชัยมงคลคาถา (คาถาพาหุง) บทที่ 9

ข้อความเต็มๆ ในบทนี้เป็นดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคลอฏฺฐคาถา

โย วาจโน ทินทิเน สรเตมตนฺที

หิตฺวานเนกวิวิธานิ จุปทฺทวานิ

โมกฺขํ สุขํ อธิคเมยฺย นโร สปญฺโญ.

เขียนแบบคำอ่าน :

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา

โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเตมะตันที

หิต๎วานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ

โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ.

คำแปล :

นรชนใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี

ซึ่งพระพุทธชัยมงคล 8 คาถาเหล่านี้ทุกๆ วัน

นรชนนั้นจะขจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายเป็นอเนกประการเสียได้

ถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุขแล.

…………..

อภิปราย :

พุทธชัยมงคลคาถา (คาถาพาหุง) บทที่ 9 นี้เป็นบทสรุปอานิสงส์ของพุทธชัยมงคลคาถาทั้ง 8 บท (คำขึ้นต้นแต่ละบทคือ พาหุํ-มารา-นาฬา-อุกฺขิตฺ-กตฺวา-สจฺจํ-นนฺโท-ทุคฺคา-)

พุทธชัยมงคลคาถาบทที่ 9 นี้มีคำที่หนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์เผยแพร่ในเวลานี้มักพิมพ์ผิด ซึ่งควรที่จะช่วยกันทำความเข้าใจ คือคำว่า “คาถา” ที่ท้ายวรรคแรก หนังสือสวดมนต์มักพิมพ์เป็น “คาถาโย” (ดูภาพประกอบ)

นั่นคือ เอาคำว่า “โย” ซึ่งเป็นคำแรกของวรรคที่สองมารวมกับคำว่า “คาถา” ซึ่งเป็นคนละคำกัน

หลักวิชาการที่ควรทราบไว้เป็นพื้นฐานก็คือ –

๑ พุทธชัยมงคลคาถา แต่งเป็นคำฉันท์ที่เรียกว่า “วสันตดิลกฉันท์”

๒ วสันตดิลกฉันท์กำหนดจำนวนคำบาทละ 14 พยางค์หรือ 14 คำ (เปล่งเสียงออกมาคำหนึ่ง นับเป็น 1 พยางค์)

ลองนับจำนวนพยางค์ในวรรคแรกดู

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา

(1) เอ (2) ตา (3) ปิ (4) พุท (5) ธะ (6) ชะ (7) ยะ (8) มัง (9) คะ (10) ละ (11) อัฏ (12) ฐะ (3) คา (14) ถา

วรรคอื่นๆ ก็เช่นกัน แต่ละวรรคจะมี 14 พยางค์เหมือนกันทั้งหมด

เป็นอันยืนยันได้ว่า ข้อความในวรรคแรกครบ 14 พยางค์ตรงคำว่า “ถา

ถ้ามี “โย” มาต่อท้ายอีก 1 คำ เป็น “คาถาโย”  จำนวนคำในวรรคนี้ก็จะเป็น 15 พยางค์ เกินกำหนดตามกฎของวสันตดิลกฉันท์ แล้วยังจะทำให้จำนวนคำในวรรคต่อไปขาดไป 1 พยางค์อีกด้วย

นี่เป็นเทคนิคการสังเกตแบบง่ายๆ โดยที่ยังไม่ต้องเรียนรู้ไปถึงกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนอื่นๆ แต่ประการใด

…………..

คำว่า “คาถา” รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน

คาถา” ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์

จริงอยู่ คำว่า “คาถา” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เมื่อเป็นพหูพจน์สามารถแจกวิภัตติเปลี่ยนรูปเป็น “คาถาโย” (แปลว่า “คาถาทั้งหลาย”) ได้

แม้แต่ผู้สวดสาธยายคาถาพาหุง ถ้ากำหนดแต่เสียง ไม่ได้กำหนดรูปคำ ก็อาจจะนึกภาพคำนี้เป็น “คาถาโย” ไปเสียด้วยก็ได้

แต่เฉพาะในที่นี้จะเป็น “คาถาโย” ไม่ได้ เพราะเกินจำนวนคำในวรรคซึ่งต้องมี 14 พยางค์ตามกฎของวสันตดิลกฉันท์ดังกล่าวแล้ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอมรับว่าผิด อายแค่ชั่วอึดใจ

: ทำผิดต่อไป อายไปตลอดกาล

#บาลีวันละคำ (2,347)

15-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย