บาลีวันละคำ

คาถาไหว้พระบาท (บาลีวันละคำ 2,354)

คาถาไหว้พระบาท

มีคำไหว้พระพุทธบาทที่เป็นภาษาบาลี เล่าท่องกันแพร่หลายอยู่ 2 บท ขอนำมาเสนอไว้ในบาลีวันละคำ ดังนี้

บทที่ ๑

เขียนแบบบาลี :

ยํ  นมฺมทาย  นทิยา  ปุลิเน  จ  ตีเร

ยํ  สจฺจพนฺธคิริเก  สุมนาจลคฺเค

ยํ  ตตฺถ  โยนกปุเร  มุนิโน  จ  ปาทํ

ตํ  ปาทลญฺชนมหํ  สิรสา  นมามิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

ยัง  นัมมะทายะ  นะทิยา  ปุลิเน   จะ  ตีเร

ยัง  สัจจะพันธะคิริเก  สุมะนาจะลัคเค

ยัง  ตัตถะ  โยนะกะปุเร  มุนิโน  จะ  ปาทัง

ตัง  ปาทะลัญชะนะมะหัง  สิระสา  นะมามิ.

คำแปล :

รอยพระบาทของพระมุนีประดิษฐานอยู่

ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาแห่งหนึ่ง

ที่ภูเขาสัจจพันธ์แห่งหนึ่ง

ที่ภูเขาสุมนะแห่งหนึ่ง

และที่โยนกบุรีอีกแห่งหนึ่ง

ข้าพเจ้าขอนมัสการรอยพระบาทนั้นด้วยเศียรเกล้า

บทที่ ๒

เขียนแบบบาลี :

สุวณฺณมาลิเก  สุวณฺณปพฺพเต

สุมนกูเฏ  โยนกปุเร 

นมฺมทาย  นทิยา

ปญฺจปาทวรํ  ฐานํ 

อหํ  วนฺทามิ  ทูรโต.

เขียนแบบคำอ่าน :

สุวัณณะมาลิเก  สุวัณณะปัพพะเต

สุมะนะกูเฏ  โยนะกะปุเร 

นัมมะทายะ  นะทิยา

ปัญจะปาทะวะรัง  ฐานัง 

อะหัง  วันทามิ  ทูระโต.

คำแปล :

ณ ที่ภูเขาสุวรรณมาลีแห่งหนึ่ง

ภูเขาสุวรรณบรรพตแห่งหนึ่ง

ภูเขาสุมนะแห่งหนึ่ง

โยนกบุรีแห่งหนึ่ง

และที่แม่น้ำนัมมทาอีกแห่งหนึ่ง

รอยพระพุทธบาททั้งห้าสถาน

ข้าพเจ้าขอนมัสการจากที่ไกล

ศัพท์ที่น่าสนใจ :

ขอยกศัพท์บางศัพท์มาแปลเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่คุ้นกับคำบาลี ดังนี้

นมฺมทาย  นทิยา” คำเดิมคือ “นมฺมทานที” (นำ-มะ-ทา-นะ-ที) = แม่น้ำนัมมทา อันเป็นชื่อที่เราค่อนข้างคุ้นกันดี

ปุลิเน”  คำเดิมคือ “ปุลิน” (ปุ-ลิ-นะ) = หาดทราย (a sandy bank or mound in the middle of a river)

ตีเร” คำเดิมคือ “ตีร” (ตี-ระ) = ฝั่งน้ำ (a shore, bank)

สจฺจพนฺธคิริเก” คือที่แปลว่า “ภูเขาสัจจพันธ์” หรือจะแปลว่า “สัจจพันธคีรี” ก็ได้

สุมนาจลคฺเค” คำนี้ซับซ้อนหน่อย แยกศัพท์เป็น สุมน (สุ-มะ-นะ) = ชื่อภูเขา “สุมนะ” + อจล (อะ-จะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่หวั่นไหว” = ภูเขา + อคฺค (อัก-คะ) = ยอด, ส่วนยอดของสิ่งใดสิ่งสิ่งหนึ่ง รวมทั้งศัพท์แปลว่า “ยอดเขาสุมนะ

โยนกปุเร” คำเดิมคือ “โยนกปุร” (โย-นะ-กะ-ปุ-ระ) แปลว่า “เมืองโยนก” ชื่อเมืองโยนกในที่นี้ (หรือในคัมภีร์พระพุทธศาสนา) หมายถึงอาณาจักรโบราณทางทิศพายัพของชมพูทวีป ปัจจุบันอยู่ในเขตอาฟกานิสถาน และอุซเบกิสถานกับตาจิกิสถานแห่งเอเชียกลาง

ปาทลญฺชนมหํ” แยกศัพท์เป็น ปาทลญฺชนํ (ปา-ทะ-ลัน-ชะ-นัง) = รอยพระบาท + อหํ (อะ-หัง) = ข้าพเจ้า (ข้าพเจ้าขอขอนมัสการรอยพระบาท)

สุวณฺณมาลิเก” คือที่แปลว่า “ภูเขาสุวรรณมาลี

สุวณฺณปพฺพเต” คือที่แปลว่า “ภูเขาสุวรรณบรรพต”

สุมนกูเฏ” คำเดิมคือ “สุมนกูฏ” (สุ-มะ-นะ-กู-ตะ) “กูฏ” = ยอด, ส่วนยอดของสิ่งใดสิ่งสิ่งหนึ่ง คำนี้ความหมายเท่ากับ “สุมนาจลคฺเค

ปญฺจปาทวรํ” แยกศัพท์เป็น ปญฺจปาท (ปัน-จะ-ปา-ทะ) = พระบาททั้งห้า + วร (วะ-ระ) = ประเสริฐ รวมทั้งศัพท์แปลว่า “พระบาททั้งห้าอันประเสริฐ” (เป็นศัพท์ที่เอาคำขยายไว้หลัง)

อภิปราย :

คาถาไหว้พระบาททั้ง 2 บทนี้ บทแรกนับพระบาทได้ 4 แห่ง บทหลังนับได้ 5 แห่ง ทั้งมีคำระบุจำนวนไว้ชัดเจน คือ “ปญฺจปาทวรํ”

สถานที่ที่ตรงกันมี 3 แห่ง คือ แม่น้ำนัมมทา, ภูเขาสุมนะ และโยนกบุรี

ที่เยื้องแย้งกัน คือ ภูเขาสัจจพันธ์ (ไม่มีในบทหลัง) ภูเขาสุวรรณมาลี และภูเขาสุวรรณบรรพต (ไม่มีในบทแรก)

ภูเขาสุวรรณมาลีกับภูเขาสุวรรณบรรพตจะเป็นแห่งเดียวกันไม่ได้ เพราะท่านระบุชื่อไว้ที่รายการเดียวกันซึ่งบ่งชี้จำนวนว่ามี 5 แห่ง

ถ้ายึดเอา 5 แห่งเป็นหลัก ก็ต้องตีความให้ภูเขาสัจจพันธ์หมายถึงภูเขาสุวรรณมาลีหรือไม่ก็ภูเขาสุวรรณบรรพตแห่งใดแห่งหนึ่ง

แต่ถ้ายึดเอาชื่อที่ระบุไว้เป็นหลัก จำนวนพระบาทก็ต้องเป็น 6 แห่ง

โปรดทราบว่า พระบาทที่กล่าวถึงนี้หมายถึงพระบาทตามคำบูชาที่ยกมานี้เท่านั้น ไม่นับพระบาทในเมืองไทยหรือในเมืองอื่น

เมื่อพูดถึงพระบาทหรือการบูชารอยพระบาทตามสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ เรามักกล่าวกันว่า “เป็นเพียงความเชื่อ” ของชาวพุทธ หมายถึง (๑) เชื่อว่ามี แต่มีจริงหรือเปล่าไม่รู้ และ (๒) เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับรอยพระบาทไว้ แต่เสด็จไปจริงหรือเปล่าไม่รู้

การใช้คำว่า “เป็นเพียงความเชื่อ” นั้น ยังไม่ใช่วิธีของผู้รู้

วิธีของผู้รู้คือต้องแสวงหาความจริง

สถานที่ตามที่ระบุนี้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และพระพุทธเจ้าก็เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

อะไรที่เป็น “ประวัติศาสตร์” ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะขุดค้นหาความจริงหรือความเท็จได้เสมอ

ใครที่พูดว่า เรื่องพระพุทธบาท “เป็นเพียงความเชื่อ” ควรจะยืนยันได้ว่าตนได้ไปสืบค้นตามสถานที่เหล่านี้ดูแล้ว (หรืออย่างน้อยก็ได้พยายามศึกษารายงานของคนที่ได้ไปสืบค้นมาและเขียนไว้อย่างถี่ถ้วนแล้ว) ทั้งได้ศึกษาข้อมูลหลักฐานต่างๆ อย่างละเอียดหมดแล้ว ไม่พบว่ารอยพระบาทเหล่านี้มีอยู่จริง และไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยใดๆ ที่ระบุว่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จไปประทับรอยพระบาทไว้จริง

การทำดังกล่าวนี้ก็คือการทำให้ “ความเชื่อ” กลายเป็น “ความจริง” หมายความว่า ถ้า “จริง” ก็ยืนยันได้ว่าจริง และถ้า “ไม่จริง” ก็ยืนยันได้เช่นกันว่าไม่จริง

ไม่ใช่ติดหรือจบกันอยู่แค่ “ความเชื่อ” แล้วก็สรุปกันเองว่า “เป็นเพียงความเชื่อ” แต่ไม่คิดจะพิสูจน์หาความจริงหรือความเท็จ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์

: อย่าเพิ่งพูดว่าจริงหรือไม่จริง

#บาลีวันละคำ (2,354)

22-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *